xs
xsm
sm
md
lg

ชงปรับเกณฑ์ค่าตอบแทน สธ.ใหม่ ใครได้...ใครเสีย??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ได้อนุมัติหลักการในการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนฉบับ 8 (เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย) เป็นค่าตอบแทนฉบับ 11 และปรับปรุงฉบับ 9 (ค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P) เป็นค่าตอบแทนฉบับ 12 โดยเตรียมที่จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 ก.ค. นี้

สำหรับการปรับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนใหม่ในครั้งนี้ โดยเฉพาะค่าตอบแทนฉบับ 11 นั้น ใครจะได้ ใครจะเสีย MGR Online มีคำตอบ!!

ค่าตอบแทนฉบับ 11 ซึ่งปรับปรุงมากจากค่าตอบแทนฉบับ 8 คาดว่า ทุกวิชาชีพมีความพึงพอใจ เพราะหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอนุมัติยืนอยู่บนหลักการที่ว่าวิชาชีพที่ได้มากอยู่แล้วก็ได้เท่าเดิม ส่วนวิชาชีพที่ได้น้อยต้องได้เพิ่มขึ้น โดยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมและลดความเหลื่อมล้ำลง พิจารณาได้จาก

1. ทุกวิชาชีพใช้หลักเกณฑ์การแบ่งระดับพื้นที่เป็น 6 ระดับเหมือนกันหมด ซึ่งเดิมทีก่อนหน้านี้มีเพียง 2 วิชาชีพเท่านั้น คือ แพทย์ และ ทันตแพทย์ ที่จะมีการแบ่งจ่ายค่าตอบแทนตามพื้นที่เป็น 6 ระดับ คือ ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3 พื้นที่กันดารระดับ 1 และระดับ 2 ขณะที่วิชาชีพอื่น ๆ แบ่งเป็น 2 ระดับเท่านั้น คือ พื้นที่ปกติ และพื้นที่กันดาร ทำให้ที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้แบ่งระดับพื้นที่เท่ากันตลอด ซึ่งค่าตอบแทนฉบับ 11 ทุกวิชาชีพจะมีการปรับอัตราการจ่ายค่าตอบแทนเป็นพื้นที่ 6 ระดับเหมือนกัน

2. ทุกวิชาชีพใช้หลักเกณฑ์ช่วงอายุราชการ 3 ช่วงเหมือนกัน ซึ่งในฉบับ 8 จะกำหนดเพียงแพทย์ และทันตแพทย์เท่านั้นที่แบ่งช่วงอายุออกเป็น 3 ช่วง คือ ปีที่ 1 - 3 ปีที่ 4 - 10 และปีที่ 11 ขึ้นไป ส่วนวิชาชีพอื่น ๆ มีเพียง 2 ช่วงอายุราชการ คือ ปีที่ 1 - 3 และ ปีที่ 4 ขึ้นไป ทำให้แม้จะอยู่ในพื้นที่มานานก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าตอบแทนฉบับ 11 ได้มีการปรับปรุงเรื่องนี้ให้เท่าเทียมทุกวิชาชีพ

และ 3. เพิ่มกลุ่มสายงานส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการออกหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมในส่วนนี้ด้วยนั้น จะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่ทำในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเงินตรงนี้ด้วย

เรียกได้ว่าลดความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรมมากขึ้น!!

แต่อาจมีบางกลุ่มที่อาจไม่ปลื้มใจนักกับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับใหม่นี้ เนื่องจากไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ดังใจ นั่นคือ กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท ที่เสนอให้กลับไปใช้ค่าตอบแทนฉบับ 4 และ 6 เพราะค่าตอบแทนฉบับ 8 ที่ปรับปรุงมาจากค่าตอบแทนทั้ง 2 ฉบับนี้ได้มีการลดจำนวนแถวของอายุราชการลงจาก 4 ช่วงเหลือเพียง 3 ช่วง คือ ตัดแถวช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไปออกไป ทำให้ “หมอ” บางกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่นาน ๆ ไม่ได้ค่าตอบแทน “มาก” เท่าเดิม โดยอ้างว่าจะทำให้ยึด “หมอ” ให้อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ แต่แปลกตรงที่ว่า หมอที่ออกมาเรียกร้องส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ “กันดารมาก” จริง ๆ

ทั้งนี้ การตัดช่วงอายุที่ 4 คือ มากกว่า 20 ปีขึ้นไปออกไปนั้น เนื่องจากงานวิจัยพบว่า ช่วงอายุราชการที่คนลาออกมากที่สุด คือ ช่วง 3 ปีแรก เนื่องจากไปเรียนต่อ ส่วนการลาออกมากรองลงมา คือ ช่วงอายุ 4 - 10 ปี ขณะที่กลุ่มอายุงานเกิน 10 ปีขึ้นไปแล้วไม่ค่อยมีการลาออก ดังนั้น การเพิ่มเงินค่าตอบแทนในกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป จึงไม่ตรงวัตถุประสงค์ในการยึดคนในพื้นที่ จึงตัดในส่วนนี้ออกเหลือเพียง 3 ช่วงอายุ

งานนี้ไม่แน่ใจว่า กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทจะมีการออกมาเรียกร้อง สร้างกระแสเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะเสนอหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับใหม่นี้เข้าสู่ ครม. หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกวิชาชีพเขาเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้ทั้งสิ้น!!

สำหรับค่าตอบแทนฉบับ 12 ซึ่งแปลงร่างมาจากฉบับ 9 นั้น จะเป็นการปรับรายละเอียดแนบท้ายให้มีความเหมาะสมขึ้น โดยพิจารณาในเรื่องของความเชี่ยวชาญ ความเสี่ยงของงาน การอยู่เวร กลไกทางการตลาด เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย และจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาในเรื่องของสัดส่วนวิชาชีพด้วย โดยการคิดค่าตอบแทนตามภาระงานนั้น โรงพยาบาลจะเป็นฝ่ายบริหารจัดการว่าเงินควรไปอยู่ในแต่ละวิชาชีพเป็นสัดส่วนเท่าใด คำนวณจากจำนวนคนในวิชาชีพของโรงพยาบาลนั้น คูณด้วยสัดส่วนของวิชาชีพ ส่วนจำนวนเงินจะได้เท่าไรนั้นก็จะเอาผลปฏิบัติงานทั้งปริมาณและคุณภาพมาแปลงเป็นคะแนน เพื่อคำนวณเป็นเงิน ซึ่งหากไม่ได้ตามมาตรฐานก็ไม่ได้เงินเพิ่ม หากทำได้ดีกว่ามาตรฐานก็จะได้เงินในส่วนนี้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับใหม่ ซึ่งหลักการคือคนได้มากได้เท่าเดิม คนได้น้อยได้เพิ่มขึ้น เช่นนี้เท่ากับว่าต้องใช้งบประมาณมากขึ้น ปัญหาคือ งบประมาณแต่เดิมก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว และที่มาของเงินที่จะจ่ายค่าตอบแทนจะเป็นเช่นไร

ในยุคสมัย นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการประกาศใช้ค่าตอบแทนฉบับ 8 และ 9 นั้น ค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุขทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก โดยในยุคนั้นได้มีการขอเงินเสริมปีละ 3,000 ล้านบาท โดยนำเงินไปฝากกับ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” แล้วกระจายมาให้โรงพยาบาลสังกัด สธ. ซึ่งดำเนินการมาได้ 3 ปี จนกระทั่งเกิดปัญหาถูกคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตีความเรื่องการใช้งบประมาณกองทุนบัตรทอง ไม่สามารถนำมาจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขได้ จนต้องมีการออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกปัญหาดังกล่าว และโอนกลับมาให้ สธ. บริหารจัดการ

แต่ปัญหาคือ สำนักงบประมาณให้งบประมาณเสริมเพียงปีละ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเดิมทีได้ 3,000 ล้านบาท โรงพยาบาลก็ต้องใช้เงินบำรุงมาจ่ายเองถึงปีละ 6,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ทำให้ที่ผ่านมา เกิดวิกฤตการค้างจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P จำนวนมากตามที่เคยนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ที่สำคัญคือ มีข่าวว่าจะให้แบ่งงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ออกมา 500 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ ก็ทำให้งบประมาณสำหรับทั้งประเทศยิ่งน้อยลงเข้าไปใหญ่

การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ สธ. ได้มีการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งบางพื้นที่ไม่ได้กันดารแล้ว ก็ปรับเป็นพื้นที่ปกติ หรือพื้นที่ปกติก็ปรับขึ้นมาเป็นชุมชนเมือง ก็จะช่วงให้วงเงินลดลง ทำให้แม้จะมีการเพิ่มเงินให้กับวิชาชีพที่ได้น้อย ส่งผลให้ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมาเพียงประมาณ 300 ล้านบาท ก็เท่านั้นเอง!!

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น