โฆษก กอ.รมน. เผยสถานการณ์ไฟใต้เดือนเศษพุ่งสูงถึง 90 เหตุการณ์ ขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขดำเนินการแล้ว 11 กลุ่ม ถกมาเลย์ช่วยเหลือกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จัดตั้งมวลชนอาสาพิทักษ์เมือง และไทยอาสาป้องกันชาติ เฝ้าระวังเขตเศรษฐกิจ เผยผู้ก่อความไม่สงบยังก่อเหตุรูปแบบซ้ำๆ โดยเฉพาะเผาซีซีทีวี ขอให้ทุกหน่วยกวดขัน เตือน 31 ส.ค. นี้ วันเชิงสัญลักษณ์ระวังในการให้ข้อมูล มอบรายละเอียดให้บัวแก้วแจงต่างชาติ
วันนี้ (27 ส.ค.) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงผลการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ว่า ภาพรวมสถานการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 7 ก.ค.- 25 ส.ค. 57 เกิดเหตุการณ์รวม 90 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุความมั่นคง 42 เหตุการณ์ ขัดแย้งส่วนตัว 25 เหตุการณ์ ก่อกวน 4 เหตุการณ์ และอยู่ระหว่างตรวจสอบ 19 เหตุการณ์ ผลการปฏิบัติเชิงรุกจากการเข้าตรวจค้นในหมู่บ้านรอบเขตเมือง ซึ่งเป็นแหล่งซุกซ่อนและเตรียมการก่อเหตุในเมือง และการลาดตระเวนเส้นทาง ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 3 ราย ถูกควบคุมตัว 78 ราย ตรวจพบแหล่งซุกซ่อนอาวุธ 1 แห่ง ตรวจยึดอาวุธปืน 31 กระบอก แยกเป็นอาวุธสงคราม 8 กระบอก ปืนลูกซอง 8 กระบอก ปืนพก 14 กระบอก ปืนเล็กยาว ขนาด .22 นิ้ว 1 กระบอก และยุทโธปกรณ์อื่นๆ หลายรายการ สามารถทำลายความพยายามของผู้ก่อเหตุรุนแรงด้วยการตรวจพบหลุมระเบิด 15 หลุม
พ.อ.บรรพต กล่าวต่อว่า ส่วนการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดตั้งคณะทำงานและเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ 14 กลุ่ม ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 11 กลุ่ม เช่น กลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มสื่อมวลชน เป็นต้น ผลการดำเนินการส่วนใหญ่เห็นด้วยและยอมรับยุทธศาสตร์การพูดคุย ทั้งในประเด็นความเป็นเอกภาพ ความต่อเนื่อง และการเปิดพื้นที่กลางจากคนในให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้แต่ขอให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมาเลเซีย
พ.อ.บรรพต กล่าวว่า สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 101 เมื่อ 19 - 21 ส.ค. 57 ปัจจุบันมีการดำเนินโครงการหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดนไปแล้ว 14 หมู่บ้าน อยู่ฝั่งไทย 11 หมู่บ้าน ฝั่งมาเลเซีย 3 หมู่บ้าน โครงการปลูกป่าอาเซียนในพื้นที่ชายแดนดำเนินการแล้ว 45 ไร่ 5,500 ต้น ในพื้นที่ จ.สตูกับรัฐเปอร์ลิส และ จ.สงขลา กับรัฐเคดาห์ นอกจากนี้ มีการหารือเพิ่มเติมเพื่อขอความร่วมมือฝ่ายมาเลเซียในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร การสนับสนุนและช่วยเหลือกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณแนวชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา และแนวคิดในการบริหารจัดการตามแนวชายแดนร่วมกันโดยเฉพาะในเรื่องการสร้างรั้วชายแดนให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งการช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตร ร่วมกับ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับซื้อและระบายมังคุดผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายในพื้นที่ได้ 4,900 ตัน จากทั้งหมด 6,500 ตัน ลองกอง 3,000 ตันจากผลผลิตทั้งหมด 14,000 ตัน สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรในระดับหนึ่งในส่วนที่เหลือจะเร่งแก้ปัญหาต่อไป
พ.อ.บรรพต กล่าวอีกว่า การพัฒนาศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ศพฐ.10 ได้จัดทำมาตรฐาน ISO (17020:2012) สำหรับงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำให้งานตรวจสถานที่เกิดเหตุทั้ง 3 จังหวัด มีความชัดเจน เป็นระบบ เป็นกลาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งพัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ ให้สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลเข้าด้วยกันโดยอัตโนมัติ ส่วนการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการตำรวจตำบล เสนอจัดตั้งในระยะแรก 52 หน่วย ใช้ชื่อ “หน่วยปฏิบัติการตำรวจตำบล” หรือ “นปต.” มีลักษณะเป็นกองร้อยปฏิบัติการ ขึ้นตรงกับตำรวจภูธรจังหวัด มีภารกิจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน งานด้านการป้องกันปราบปราม และงานการเมือง โดยไม่มีงานสอบสวน ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะนำเรียนเพื่อพิจารณาอนุมัติใน ส.ค. นี้
“ผลการดำเนินงานรอบ 3 เดือนของ ศอ.บต. ระหว่างวันที่ 22 พ.ค.- 22 ส.ค. 57 ได้จัดตั้งมวลชนที่อาสามามีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยของพื้นที่เพิ่มเติมเรียกว่า อาสาพิทักษ์เมือง (อส.พม.) และไทยอาสาป้องกันชาติ (ทส.ปช.) อีก 300 คน รวมของเดิมเป็น 900 คนเศษ เพื่อช่วยดูแลและเฝ้าระวังเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลัก 9 แห่ง ได้แก่ หาดใหญ่ เบตง สุไหงโก-ลก เมืองยะลา เมืองปัตตานี เมืองนราธิวาส โคกโพธิ์ นาประดู่ และสายบุรี โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่าง (ไฮเมท) ในเขตชุมชนเมือง 8 แห่ง รวม 34 จุด การซ่อมบำรุงกล้องซีซีทีวี 400 จุด โครงการก่อสร้างถนนแอสฟัลต์ผสมยางพารา 37 สาย งบประมาณ 835 ล้านบาทเศษ ในพื้นที่ 37 อำเภอ ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว พร้อมดำเนินการภายในเดือน ก.ย. 57
“ที่ผ่านมา ยังมีการก่อเหตุในรูปแบบซ้ำๆ เช่น การก่อเหตุต่อกำลังพลผลัดพัก การลอบเผาซีซีทีวี ขอให้ทุกหน่วยกวดขัน กำกับดูแล และกำหนดมาตรการให้ดีกว่าเดิม การลาพักต้องปฏิบัติในลักษณะยุทธการ การจัดวาง ติดตั้งซีซีทีวีต้องให้เป็นระบบ ตรงไหนไม่เหมาะสมให้ย้ายจุด การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงสร้างใหม่ให้ศึกษาดำเนินการให้ดี โดยเฉพาะเอกภาพในการบังคับบัญชา ต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ศูนย์ควบคุมและต่อต้านวัตถุระเบิดขอให้เร่งรัดการปฏิบัติงานในทุกรูปแบบโดยเน้นเรื่องการติดตาม ตรวจสอบและจับกุมวัตถุประกอบระเบิด และมือระเบิดซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการก่อเหตุ เรื่องรถหายและถูกนำไปประกอบระเบิด ขอให้ ศชต. พิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน เรื่องผลการดำเนินคดีความมั่นคง จากสถิติรายงานการยกฟ้องมากถึง 70% ซึ่งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ทราบปัญหาแล้ว ทั้งการคุ้มครองพยาน การบูรณาการด้านหลักฐาน และความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ขอให้นำไปแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น” โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า
พ.อ.บรรพต กล่าวอีกว่า สำหรับวันที่ 31 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเชิงสัญลักษณ์ ขอให้ระมัดระวังในการให้ข้อมูล และการชี้แจงต่างๆ ให้มีเอกภาพและทิศทางเดียวกัน และมอบรายละเอียดให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานด้วย เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการชี้แจงกับต่างประเทศ การสร้างความเข้าใจต่อสังคม ขอให้ชี้แจงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยให้ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนร่วมชี้แจงด้วย