xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งแก้ดินพอกหางหมู รพ.ค้างจ่ายค่าตอบแทน ย้ำ ผอ.รพ.หาทุนเพิ่ม ด้าน รพ.บ้านโป่ง เล็งจ่าย 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผอ.รพ.บ้านโป่ง รับค้างจ่ายค่าตอบแทน P4P จริง แต่ไม่ถึง 27 เดือน แจงจ่ายของปี 57 และ 58 แล้ว ปีละ 3 เดือน ส่วนปี 59 อยู่ระหว่างขออนุมัติเงินบำรุงจ่ายเต็มแม็กซ์เดือนละ 2 ล้านบาท รวม 6 เดือน คาด จ่ายได้ ก.ค. นี้ เผย สถานะการเงินขาดสภาพคล่องระดับ 1 ชี้ จ่ายเท่าที่จ่ายได้ หากจ่ายทั้งหมดเสี่ยงติดระดับ 7 สธ. สั่งเร่งแก้ปัญหา ผอ.รพ. ต้องทำงานเชิงรุกหาทุน

จากกรณีสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) จัดทำข้อมูลระยะเวลาการค้างจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) ในกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) โดยพบว่า มีโรงพยาบาลที่ค้างจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวต่อบุคลากรเกิน 2 ปี จำนวน 6 แห่ง โดย รพ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ค้างจ่ายมากที่สุด คือ 27 เดือน

วันนี้ (2 มิ.ย.) นพ.ดุลวิทย์ ตปนียากร ผอ.รพ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า รพ. มีการค้างจ่ายค่าตอบแทน P4P ให้แก่บุคลากรตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีการจ่ายเลย เพราะมีการจ่ายบ้างบางเดือนที่สามารถจ่ายได้ โดยปี 2557 มีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวไปแล้ว 3 เดือน ปี 2558 จ่ายอีก 3 เดือน ส่วนปี 2559 ยังไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการทำเรื่องขออนุมัติวงเงินจากเงินบำรุงของ รพ. ต่อ คณะกรรมการบริหาร รพ.บ้านโป่ง เพื่อนำมาจ่ายค่าตอบแทน P4P ในปี 2559 เป็นจำนวน 6 เดือน ซึ่งขอเต็มจำนวนที่ต้องจ่าย คือ เดือนละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถจ่ายได้ในเดือน ก.ค. นี้ แต่เบื้องต้นเท่าที่คณะกรรกมาบริหาร รพ. สรุปคือ อาจจะจ่ายเพียง 4 เดือนก่อน แล้วดูสถานะทางการเงินของโรงพยาบาล ว่า ยังสามารถจ่ายได้อีกหรือไม่ หากยังจ่ายได้ก็จะจ่ายอีก 2 เดือนที่เหลือ

นพ.ดุลวิทย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวได้ เนื่องจากเงินบำรุงของโรงพยาบาลนั้น เมื่อหักลบกลบหนี้กับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแล้ว บางเดือนก็ติดลบ บางเดือนก็เหลือเงินประมาณ 1 - 2 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่สามารถเอามาจ่ายเป็นค่าตอบแทน P4P ได้ในทันทีหรือยังจ่ายได้ไม่เต็มที่ ทำให้จ่ายได้แค่บางเดือน เพราะยังต้องนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ด้วย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโอที ค่าจัดซื้อยาต่าง ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ลดลงด้วย จากเดิมเคยได้อยู่ประมาณ 90 กว่าล้านบาท ปีนี้ได้รับเพียง 73 ล้านบาท ซึ่งสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลถือว่าเป็นโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องระดับ 1 ก็พยายามประคับประคองตัวเองอยู่ ซึ่งจากการประเมิน หาก รพ. ต้องจ่ายค่าตอบแทน P4P ทั้งหมด ก็จะกลายเป็น รพ. ขาดสภาพคล่องระดับ 7 เหมือนอย่าง รพ.โพธาราม และ รพ.พระนั่งเกล้าที่ติดระดับ 7 จากการจ่าย P4P

“สำหรับบุคลากร รพ. ก็ถือว่าเข้าใจสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาล เพราะก็ได้มีการแบให้ดูเงินบำรุงชัดเจนว่างบประมาณเป็นอย่างไร ก็บอกตรง ๆ ว่า ต้องค้างจ่าย และ รพ. มีกำลังจ่ายได้เท่าไร ส่วนที่เหลืออาจจะยังไม่ได้ เพราะ รพ. อาจติดระดับ 7 ได้ ซึ่งบุคลากรก็เข้าใจ” ผอ.รพ.บ้านโป่ง กล่าว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การค้างจ่ายค่าตอบแทน P4P เกิดขึ้นมานานแล้วขึ้นอยู่กับว่าใครมีเงินบำรุงเพียงพอหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังให้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. ช่วยกันดูและส่งข้อมูลมาให้ตน ว่า มีโรงพยาบาลใดบ้างที่ค้างจ่ายเงินค่าตอบแทน ค้างเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นดินพอกหางหมู ส่วนหนึ่งยอมรับว่า เพราะการแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องยังไม่มีความเบ็ดเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการ ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป โรงพยาบาลก็รู้นโยบาย สิ่งสำคัญคือ การทำงานเชิงรุกในการหาทุนเข้าโรงพยาบาลด้วย ไม่ใช่รอเงินจากส่วนกลางอย่างเดียว เพราะเงินที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งให้ไม่พออยู่แล้ว แต่จะปล่อยให้ภาระนี้เป็นต่อไปไม่ได้ ต้องมาร่วมกันแก้ไข 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการปรับเปลี่ยนระบบการส่งเงินจาก สปสช. ไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ใหม่หรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ก็มีความพยายามในการทำ แต่ก็ยังไม่เกิดอะไร แต่ไม่อยากดำเนินหน้าด้วยวิธีการที่หักกัน หรือโทษใคร ตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับความเข้าใจกันของสองหน่วยงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งอยู่ระหว่างการดูการปรับระบบคืออะไร ถ้าปรับจะปรับอย่างไร อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากที่ตนลงพื้นที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็ได้เน้นย้ำให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจริง ๆ นอกจากการใช้เงินที่ส่งให้แล้วยังต้องหาเข้ามาด้วย บนหลักการที่ประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งมีวิธีการมากมาย ผู้บริหารต้องเก่ง ทั้งนี้ ขอให้ใจเย็น ๆ คิดว่าหลายแห่งดีกว่าเดิมกว่าที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น