xs
xsm
sm
md
lg

สหวิชาชีพร้อง “ค่าตอบแทน” ลดเหลื่อมล้ำ สธ.จ่อปรับพื้นที่กันดารตามจริง เพิ่มเงินในระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สหวิชาชีพ สธ. ร้องค่าตอบแทน - บรรจุ ขรก. ลดความเหลื่อมล้ำ รองปลัด สธ. เผย กำลังทำร่างค่าตอบแทนฉบับใหม่ จ่อปรับพื้นที่ทุรกันดารตามความเป็นจริง ช่วยมีเงินเพิ่มให้คนได้ค่าตอบแทนน้อย

จากกรณี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามในคำสั่งการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้แพทย์ ทันตแพทย์ 10,000 บาทต่อเดือน เภสัชกร 5,000 บาทต่อเดือน และพยาบาล 1,000 บาทต่อเดือน ส่งผลให้เจ้าพนักงานกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข และสหวิชาชีพต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มหมออนามัย ซึ่งที่ผ่านมาออกมาเรียกร้องเรื่องค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพไม่ให้เหลื่อมล้ำยิ่งไม่พอใจ เพราะยังคงให้ความสำคัญแพทย์เป็นหลัก และอีกหลายวิชาชีพที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยกลับไม่ได้ค่าตอบแทนนี้

วันนี้ (30 พ.ค.) นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายต่างๆ  กว่า 40 คน อาทิ ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ชายแดนใต้  ชมรมเจ้าพนักงานปริญญาตรีหรือ ชมรมจพ.ป.ตรีชายแดนใต้   ชมรมพยาบาล รพ.สต.จังหวัดยะลา เป็นต้น ได้เดินทางมาเรียกร้อง ปลัด สธ.ต่อกรณีดังกล่าว และการบรรจุตำแหน่งข้าราชการที่หลายวิชาชีพยังไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. เป็นผู้รับเรื่อง

นายริซกี กล่าวว่า ที่มายื่นข้อเรียกร้อง เพราะมองว่าเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย แม้จะเป็นของเดิมที่มีทุกปี แต่ไม่มีการปรับปรุงให้กับวิชาชีพอื่น ๆ ทั้งที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่แพ้ 4 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จึงเสนอขอขยายให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ ด้วย คือ สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิปริญญาตรี สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี และสายงานสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ ธุรการการเงิน เจ้าหน้าที่บริหาร ฯลฯ  เพราะบุคคลเหล่านี้ล้วนปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย และมีภาระงานมากเช่นกัน 2. การจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ชายแดนใต้จากเงินบำรุง ควรให้ในอัตราที่เป็นธรรม โดยกำหนดว่า แพทย์และทันตแพทย์อัตราที่ควรได้เริ่มตั้งแต่ 8,000 - 10,000 บาทต่อเดือน  เภสัชกรอัตราที่ควรได้รับ 4,000 - 5,000 บาทต่อเดือน สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิปริญญาตรีอัตราเดือนละ 3,000 - 3,500 บาท สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีอัตราเดือนละ 2,000 - 2,500 บาท และสายงานสนับสนุนอัตราละ 1,000 - 1,500 บาทต่อเดือน และ 3. ขอให้ปรับค่าตอบแทนวิชาชีพฐานล่างให้สูงขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระหว่างวิชาชีพไม่ให้สุดโต่งเกินไป

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ค่าตอบแทนฉบับเดิม คือ 8 และ 9 โดยหลักการจะมีการปรับปรุงฉบับใหม่ ด้วยการที่บุคลากรไหนมีจำนวนมาก จะไม่ไปลด แต่กลุ่มไหนยังขาดก็ต้องไปเพิ่ม เพื่อลดช่องว่างดังกล่าว แต่ใช้วงเงินเท่าเดิม หลายคนมองว่าจะนำเงินจากส่วนไหน เพราะเงินไม่ได้เพิ่มขึ้น จากสำนักงบประมาณ 3,000 ล้านบาท และเงินบำรุงจากโรงพยาบาลเองอีก 6,000 ล้านบาท หนำซ้ำสำนักงบประมาณอาจปรับลดเหลือเพียง 1,000 ล้านบาท ตรงนี้จะหาแหล่งเงินอย่างไร ก็ต้องเป็นเงินบำรุงของ รพ. ซึ่งจะปรับเกลี่ยอย่างไรให้เพียงพอ ตรงนี้สามารถทำได้โดยปรับพื้นที่ทุรกันดารให้สอดคล้องกับบริบทที่แท้จริง โดยพื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 จะเหลือเป็นทุรกันดารระดับ 1  และทุรกันดารระดับ 1 จะเหลือเป็นพื้นที่ปกติ หากปรับพื้นที่นี้ลงก็จะลดเงินโดยอัตโนมัติ โดยไม่ไปลดที่คนแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้ทั้งหมอทั้งวิชาชีพที่เคยได้มากก็ต้องลดลง เพราะปัจจุบันพื้นที่ไม่ได้ทุรกันดารเหมือนอดีต โดยคำนวณแล้วพื้นที่ที่ลดลงน่าจะประมาณ 100 อำเภอ ที่จะมีการปรับตรงนี้ ซึ่งเงินที่เหลือจากตรงนี้จะไปเพิ่มค่าตอบแทนให้กับกลุ่มที่ได้น้อย โดยตรงนี้แต่ละวิชาชีพค่อนข้างตกลงกันได้

“มีเพียงข้อเสนอหนึ่งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ คือ หลายชมรมฯ เสนอขอตัดเงินค่าตอบแทนของบุคลากรที่มีอายุงานเกิน 20 ปี ซึ่งได้ค่าตอบแทนสูงให้ลดลง ก็ต้องมาเจรจาหารือให้ได้ข้อยุติที่พอใจทั้งหมด คาดว่า จะสรุปได้ในสัปดาห์นี้ แต่ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ยังไม่ใช่มติชี้ขาด เนื่องจากทางคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอการปรับค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ต้องเสนอต่อคณะกรรมการค่าตอบแทนที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณ ฯลฯ เป็นกรรมการ ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเห็นด้วยตามข้อเสนอหรือไม่” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากข้อเสนอค่าตอบแทนต่าง ๆ จะมีงบเพียงพอหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการคำนวณเบื้องต้นจากร่างค่าตอบแทน คาดว่า จะใช้เงินเพิ่ม 700 - 800 ล้านบาท ซึ่งปี 2559 สำนักงบฯให้มา 3,000 ล้านบาท เป็นเงินบำรุง 6,000 ล้านบาท รวมแล้ว 9,000 ล้านบาท แต่หากปี 2560 สำนักงบประมาณให้เงิน 1,000 ล้านบาท เงินบำรุงก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านบาท หากเรายังใช้งบเดิม ดังนั้น ตรงนี้ก็ต้องมาคำนวณให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกระทบเงินบำรุงและส่งผลต่อภาวะขาดสภาพคล่องของ รพ. ได้ ดังนั้น ต้องคำนึงหลัก ๆ 3 อย่าง คือ 1. ประชาชนสุขภาพดี 2. เจ้าหน้าที่มีความสุข 3. ระบบสุขภาพยั่งยืน แต่ตอนนี้ทุกคนเรียกร้องเจ้าหน้าที่มีความสุข ก็ต้องถามกลับไปว่า ประชาชนสุขภาพดีหรือไม่ และระบบยั่งยืนหรือไม่ เพราะหาก รพ. ขาดทุน ระบบสุขภาพจะยั่งยืนหรือไม่ จึงขอให้คำนึงทั้ง 3 ข้อด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น