โฆษก กห.แถลงเหตุป่วนหลาย จว.ใต้ ฝีมือกลุ่มทำลายชาติ หวังให้ ศก.ชะลอตัว ให้รัฐขาดความเชื่อมั่น พร้อมเข้มดูแลความปลอดภัย สร้างความเข้าใจ ปชช.ถึงแนวทางปฏิบัติ อนุมัติแผนแม่บทไซเบอร์ 5 ปี พร้อมตั้งศูนย์ที่กลาโหมปี 60 และอนุมัติแผนพัฒนากำลังสำรอง ผุด 6 ยุทธศาสตร์รองรับแผน 5 ปี ย้ำดูแลครอบครัวกำลังพลเหตุ ฮ.ตก กำชับศึกษาบทเรียนเข้มงวดการบินกันสูญเสีย
วันนี้ (22 ส.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 12.00น. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า การก่อเหตุร้ายในพื้นที่ท่องเที่ยวของหลายจังหวัดทางภาคใต้ที่ผ่านมาเป็นความตั้งใจของกลุ่มขบวนการทำลายชาติที่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนก สับสนและไม่ปลอดภัย เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยประสงค์ให้รัฐขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนและการยอมรับจากต่างประเทศซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อ่อนไหวต่อกิจการภายในประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม (นขต.กห.) และเหล่าทัพ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพิ่มความเข้มงวดต่อมาตรการรักษาความปลอดภัย ทั้งที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญในความรับผิดชอบ รวมทั้งประสานและส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ให้ร่วมกันสร้างและขยายเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมกันในการรักษาความปลอดภัยเมืองร่วมกับภาครัฐให้มากขึ้น ควบคู่กับการศึกษาเป็นบทเรียนและขยายการเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงแนวทางปฏิบัติร่วมกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการส่งต่อภาพและข้อความที่ไม่สมควรโดยขาดการไตร่ตรอง ผ่าน Social Media ที่อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ สิทธิส่วนบุคคล หรือภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ปรับตัวและมีส่วนร่วมกันดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยของสังคมเมืองเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างสงบสุขได้ในภาวะสังคมของการมีภัยคุกคามที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
พล.ต.คงชีพกล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศ กห. พ.ศ. 2560-2564 รองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศซึ่งผ่านความเห็นชอบสภากลาโหมแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา โดยสรุปสาระจะครอบคลุมแผนงานหลัก 6 แผนงาน ได้แก่ แผนการจัดองค์กรด้านไซเบอร์ แผนการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน แผนการพัฒนาความพร้อมการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุกและการปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ แผนการดำรงและพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์ แผนการสนับสนุนศักยภาพทางไซเบอร์ระดับชาติ และแผนงานความร่วมมือและผนึกกำลังด้านไซเบอร์การกำหนดซึ่งจะดำเนินการ จัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ในระดับกระทรวงกลาโหม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภายในปีงบประมาณ 2560 โดยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ ในการประสานนโยบายไซเบอร์กับระดับชาติ รวมทั้งรับผิดชอบด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ในระดับยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมในภาพรวม โดยหน่วยรับผิดชอบหลักคือ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกิจการอวกาศ ( ศทอ.)
พล.ต.คงชีพกล่าวต่อว่า ที่ประชุมร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างแผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของกระทรวงกลาโหมพุทธศักราช 2560-2564 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เป็นการกำหนดนโยบายการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองในระดับกระทรวงกลาโหม เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางพัฒนากิจการกำลังพลสำรอง ทั้งการจัดเตรียมกำลังและการใช้กำลังพลสำรองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม
สาระสำคัญ ประกอบด้วย 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 : การควบคุมบริหารจัดการด้านนโยบายกิจการกำลังพลสำรอง ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาสู่การปฏิบัติภารกิจร่วมกับกำลังประจำการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจสู่พัฒนาสารนิเทศ การประชาสัมพันธ์ และการเสริมสร้างเครือข่ายกำลังพลสำรองของกระทรวงกลาโหม สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ทุกภาคส่วน ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : การพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 : การพัฒนาให้สิทธิประโยชน์และการสวัสดิการแก่กำลังพลสำรองอย่างเหมาะสม ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 : การพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศฐานข้อมูลทรัพยากรด้านกำลังสำรอง และกำลังพลสำรอง เพื่อประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ แบ่งการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ แผนระยะสั้น (ปี 2560) กำหนดให้จัดทำแผนแม่บท หรือนโยบายการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของหน่วย แผนระยะกลาง (ปี 2561-2563) พัฒนาความพร้อมและเสริม สร้างเครือข่ายกำลังพลสำรองให้ครอบคลุมทั่วประเทศแผนระยะยาว (ปี 2564 เป็นต้นไป) สู่การพัฒนาแผนแม่บทฉบับใหม่ ในห้วงปี 2565-2569 ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. ... มีสรุปสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบรรจุและการใช้ การผลิต การฝึกศึกษา การควบคุม การเรียกหรือการระดมพล การจัดเตรียม อำนวยการ และดำเนินการในกิจการกำลังพลสำรองด้วย
พล.ต.คงชีพกล่าวอีกว่า หลังจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ประสบอุบัติเหตุและมีการสูญเสียชีวิตของกำลังพล ภายหลังจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวของทหารกล้าทั้ง 5 นาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องสิทธิกำลังพลและอำนวยความสะดวกแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่มีอากาศยานในความรับผิดชอบได้ศึกษาเป็นบทเรียนและเข้มงวดต่อการปฏิบัติตามกฎนิรภัยการบิน เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียกำลังพลและทรัพย์สินของทางราชการที่อาจจะเกิดขึ้น