ที่ประชุมสภากลาโหม เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง โฆษกระบุอย่าไปตกใจ กองทัพไม่ได้มีงบประมาณมากเพียงพอที่จะเรียกกำลังพลสำรองทั้งหมด ย้ำเป็นหลักประกันให้ประเทศชาติมีความมั่นคง พร้อมสั่งปรับปรุงยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เข้มงานด้านการข่าว และอาวุธสงครามตามแนวชายแดน
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. ... เพื่อรองรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย 5 หมวด มีสาระสำคัญดังนี้
หมวดที่ 1 คือ การกำหนดเวลาในการเป็นกำลังพลสำรอง และการยกเว้นการเป็นกำลังพลสำรอง เช่น การกำหนดเวลาให้เป็นกำลังพลสำรองคราวละ 6 ปี หมวดที่ 2 คือ การพ้นจากการเป็นกำลังพลสำรอง เช่น ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดตั้งแต่ 6 ปีเป็นต้นไป หมวดที่ 3 คือ การผ่อนผันให้กำลังพลสำรองไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร เช่น พระภิกษุ สามเณร นักบวช หรือครู หมวดที่ 4 เป็นกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหาร เช่น กำลังพลสำรองที่อยู่ระหว่างการจับกุมหรือคุมขัง และหมวดที่ 5 เป็นการแจ้งคำสั่งเรียกโดยวิธีการอื่นๆ โดยมีการเรียกระดมพล เช่น การประกาศผ่านการสื่อสารแบบไร้สาย หรือการใช้สายของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งสามารถกระทำได้ในภาวะฉุกเฉินหรือกรณีเร่งด่วนหรือวิกฤต
ทั้งนี้ หลังจากที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 ตามกฎหมายภายใน 240 วันจะต้องออกกฎหมายลูก กฎกระทรวง หรือข้อบังคับต่างๆ ขึ้นมาใช้เพื่อรองรับ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยกระทรวงกลาโหมเดินหน้าร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. ... มาตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.ค.นี้ที่จะต้องมีกฎหมายลูกออกมาบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างและจัดทำกฎหมายลูกขึ้นมารองรับ โดยมี 5 หมวดหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจาก 240 วันกฎหมายตัวนี้จะมีผลบังคับใช้
“อย่างไรก็ตาม อย่าไปตกใจ เพราะกองทัพไม่ได้มีงบประมาณมากเพียงพอที่จะเรียกกำลังพลสำรองทั้งหมดตามที่เข้าใจมากฝึกได้พร้อมๆ กัน แต่จะทยอยเรียกคิดเป็นอัตราส่วนไม่เพียงกี่เปอร์เซ็นต์ อย่าไปตื่นเต้น ขอให้เข้าใจว่า พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 มีไว้เพื่อระดมสรรพกำลังคนในชาติในการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินหรือสงคราม ซึ่งทหารหลักอาจจะสูญเสียไปมาก จึงได้เรียกกำลังพลสำรองเข้ามาช่วยปกป้องประเทศชาติ กฎหมายนี้เป็นหลักประกันให้ประเทศชาติจะมีความมั่นคงในอนาคต” พล.ต.คงชีพกล่าว
ที่ประชุมสภากลาโหม พล.อ.ประวิตรได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพปฏิบัติราชการตามธรรมาภิบาล ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปี 2560 รัฐบาลกำลังรณรงค์เรื่องธรรมาภิบาล และต้องการให้ข้าราชการปฏิบัติตาม การเดินหน้าต่อจากนี้จะเดินด้วยหลักธรรมาภิบาลและแนวทางประชารัฐที่รัฐบาลกำหนดเพื่อรักษาความสมดุลทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาประเทศด้วยความยั่งยืน
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี โดยร่างยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560-2579 ได้มีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมความมั่นคงของโลก ภูมิภาคและสถานการณ์ภายในประเทศมากำหนดวิสัยทัศน์ที่กระทรวงกลาโหมต้องมีกองทัพที่มีบทบาทชั้นนำและมีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาค มีเป้าหมายเสริมสร้างการพัฒนากองทัพ 4 ระยะ แบ่งเป็นระยะละ 5 ปี เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภากลาโหมเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
สำหรับนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคง พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมติดตามงานด้านการข่าวเรื่องการใช้และมีอาวุธสงครามไว้ในครอบครองตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดและขยายเครือข่ายร่วมกับประชาชน เพื่อไม่ให้นำอาวุธสงครามมาข่มขู่และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเด็ดขาด เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพตามกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนที่กระทำตัวเหนือกฎหมาย อีกทั้งเป็นการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติและการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจว่า 2 ปีที่ผ่านมากองทัพไม่เคยใช้กำลังข่มขู่หรือละเมิดบุคคลนอกเหนือกฎหมาย เพราะเราอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย