“ประวิตร” ประชุมรับมือสงกรานต์ลดอุบัติเหตุ เร่ง ปชช.มีจิตสำนึกใช้ถนน ยันใช้มาตรการเต็มที่ ย้ำปราบมาเฟียไปตลอดทุกพื้นที่ ปัดให้อำนาจทหารมากเกินไป ไม่ละเมิดสิทธิฯ ไม่เกี่ยวการเมือง แจง หลักสูตรอบรมไม่ได้เชิญนักการเมืองเข้าค่ายทหาร แต่เชิญมาชี้แจง ไม่ฟังทำตาม กม.เพื่อปรองดอง คกก.กำลังสำรองแห่งชาติ จ่อคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาร่างกฎกลาโหมเพื่อสอดคล้อง พ.ร.บ.กำลังสำรอง
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์เร่งรัดประชาชนให้มีจิตใต้สำนึก และความรับผิดชอบในเรื่องการใช้ท้องถนนมากขึ้น โดยมีการสั่งการตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด จนไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งหน่วยงานทั้งหมดต้องมีการบูรณาการ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบว่าต้องมีความระมัดระวังในการเดินทาง และการใช้ถนนเพื่อลดอุบัติเหตุ อาทิ กระทรวงคมนาคมจะต้องดูแลเรื่องสภาพรถโดยสาร เครื่องบิน รถไฟ รวมทั้งผู้ขับขี่จะต้องตรวจสอบสภาพความพร้อมก่อนเดินทาง เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่จะดำเนินการตลอด เพราะที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งการขับรถเร็ว เมาสุรา และไม่สวมนิรภัย เป็นต้น
พล.อ.ประวิตรกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการดังกล่าวจะเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมาย โดยตนได้กำชับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวมทั้งหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องจะต้องบังคับใช้คำสั่ง คสช.ที่ 46/2558 เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะอย่างเต็มที่ เช่น การยึดใบขับขี่ การยึดรถของคนที่ไม่มีความพร้อมจะสามารถเดินทางไปได้ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งด่านตรวจเพื่อชะลอความเร็วของรถ ทั้งยังเป็นด่านตรวจความมั่นคงด้วย เพราะมีการทำงานร่วมกันทั้งตำรวจ และทหาร เป็นต้น
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงความคืบหน้าการปราบปรามผู้มีอิทธิพลว่า ตนอยากย้ำว่าการปราบปรามผู้อิทธิพลจะไม่สิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ แต่จะดำเนินการไปตลอด ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเราได้มีการดำเนินการต่อคนกระทำความผิดอย่างชัดเจน อีกทั้งยังไม่ได้สรุปผลว่าดำเนินการไปเท่าใดแล้ว อย่างไรก็ตาม เราได้ดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทุกพื้นที่ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงพื้นที่ใด ทั้งนี้ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 13/2559 เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อยากย้ำว่าไม่ได้ให้อำนาจทหารบังคับใช้กฎหมายมากเกินไป แต่ต้องประสานงานกับตำรวจในพื้นที่ด้วย อีกทั้งการลงพื้นที่จะต้องมีการรายงานผลทุกครั้ง ส่วนที่วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นได้โดยที่ไม่มีหมายศาลนั้น ตนขอชี้แจงว่าเราไม่ได้จับกุมบุคคลทั่วไป แต่จะดำเนินการเฉพาะบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ก่อนแล้ว และย้ำว่าไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อถามว่า มาตรการปราบปรามผู้มีอิทธิพลจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่มี ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย เพราะการทำประชามติ ถ้าใครเห็นชอบก็ลงไป ถ้าไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องลง”
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงหากมีนักการเมืองที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชิญตัวไปอบรมตามหลักสูตรอบรมว่า ประเด็นนี้ คสช.เป็นผู้ดำเนินการ เห็นได้ว่านักการเมืองที่ถูกเชิญไปพูดคุยมีแต่คนหน้าเดิมๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจ ฉะนั้นเราจะต้องทำให้พวกเขามีความเข้าใจให้ได้ อย่างไรก็ตามหลักสูตรอบรมนักการเมืองนั้นกำลังจะเริ่มดำเนินการ ตนอยากบอกว่าหลักสูตรนี้ไม่ใช่เป็นการเอาตัวนักการเมืองมาเข้าค่ายทหารแต่อย่างใด เพียงแต่การเชิญนักการเมืองมาอบรมนั้นต้องมีสาเหตุ เพราะมีการแสดงความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นต้องเชิญมาชี้แจง ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปเชิญตัวมาอบรม เพราะทำไม่ได้ ตนบอกได้เลยว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ถ้าไม่ผิดจะเรียกมาทำไม
เมื่อถามว่าหากมีการพูดคุยแล้วไม่เข้าใจจะใช้มาตรา 44 ดำเนินคดีหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นเพียงการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้และเกิดความปรองดอง
ด้าน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำลังสำรองแห่งชาติโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน จากหลากหลายอาชีพเพื่อพิจารณาร่างกฎกระทรวงและระเบียบของกระทรวงกลาโหม ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำลังสำรอง พ.ศ. 2558 ที่ใช้ในขณะนี้ โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวมีจำนวน 5 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มองค์กรนายจ้าง นักวิชาการด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญ โดยกลุ่มดังกล่าวจะถูกนำเสนอเพื่อพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้งวันที่16 พ.ค.นี้ เพื่อให้คณะกรรมการสำรองแห่งชาติพิจารณา
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ปรีชากล่าวว่า การนำกำลังพลสำรองมาปฏิบัติงานมีอยู่ใน 5หมวดในร่างกฎกระทรวง ซึ่งมีทั้งในยามปกติในการช่วยเหลือด้านภัยพิบัติแก่ประชาชน อีกทั้งช่วงภัยสงคราม ในภารกิจป้องกันประเทศรวมและปฏิบัติงานตามความเชี่ยวชาญ ซึ่งกำลังพลสำรองที่จะถูกเรียกนี้จะมีอายุในถูกเรียกจำนวน 6 ปี โดยกลุ่มกำลังสำรองที่ถูกเรียกจะมีเงินเดือน สวัสดิการ และให้ชั้นยศ ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่นายจ้างด้วย