xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นสุดคดี 10 ปี ทีโอทีเฮไม่ต้องจ่าย 9 พันล้านให้ทรู หลังศาล ปค.สูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ทีโอที” เฮไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน 9 พันล้านให้ทรู หลังสู้คดีนาน 10 ปี “ศาลปกครองสูงสุด” สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการฯ ระบุการพิจารณาของอนุญาโตฯ ไม่ยึดความสมเหตุสมผล การให้ความเป็นธรรมผู้รับใบอนุญาต ความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ขอใช้หรือขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทุกราย เข้าข่ายขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ปชช.ที่ศาลสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดได้

วันนี้ (19 ส.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนคำชี้ของคณะอนุญาโตตุลาการและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวที่ให้ บมจ.ทีโอที แบ่งผลประโยชน์ตอบแทนและชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 9,175,817,440.07 บาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากการนำบริการพิเศษตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ มาผ่านโครงข่ายของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2549 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการและบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต้องพิจารณาตามกฎหมายไทยตามที่กำหนดในสัญญาและมาตรา 34 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 โดยใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมาตรา 40 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาท มีเจตนารมณ์ที่จะให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดสรรต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมาตรา 25 วรรคห้า แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 บัญญัติให้การเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม โดยให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการโทรคมนาคม รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (8) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543

นอกจากนี้ มาตรา 80 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 บัญญัติให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมของคู่สัญญาเดิมต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และมาตรา 26 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 บัญญัติให้สิทธิประโยชน์ตามสัญญาเดิมเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อมีการตรากฎหมายว่าด้วยการดำเนินกิจการที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งมีผลทำให้สิทธิของคู่สัญญาเดิมอยู่ภายใต้บทบัญญัติ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2543 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามที่กำหนดไว้เดิมต้องถูกยกเลิกไป

“การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทโดยพิจารณาแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนด้วยการคำนึงถึงความสุจริตยุติธรรม และปกติประเพณีตามมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่ได้พิจารณาถึงความสมเหตุสมผลและเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ขอใช้หรือขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทุกราย จึงเป็นการไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้น การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้ และศาลต้องปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นพ้องด้วยในผลและมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว”


กำลังโหลดความคิดเห็น