xs
xsm
sm
md
lg

“AWN” รับใบอนุญาต ปัญหาคลื่น 900 MHz จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


AWN รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แล้ว ยืนยันลูกค้าที่ใช้เครื่อง 2G กว่า 6 ล้านเลขหมาย ซิมไม่ดับ เหตุทำสัญญาเช่าอุปกรณ์กับทีโอที เป็นเวลา 5 ปี ขณะที่แจสเดินทางมาจ่ายค่าปรับเบี้ยวค่าประมูลคลื่น 900MHz เกือบ 200 ล้านบาทแล้ว ด้าน กสทช.ยิ้มแก้มปริเตรียมนำเงินส่งรัฐ

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เวลา 09.00 น. นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางมารับมอบใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว

ภายหลังรับใบอนุญาต นายสมชัย กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจว่า ลูกค้า 3G ที่เป็นลูกค้า เอดับลิวเอ็น ที่โอนการใช้งานจากคลื่น 900 MHz มาอยู่ในระบบคลื่น 2100 MHz แต่โทรศัพท์มือถือยังรองรับระบบ 2G อยู่จำนวนกว่า 6 ล้านเลขหมาย จะไม่มีปัญหาซิมดับหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 2G คลื่น 900 MHz หลังเที่ยงคืนของวันที่ 30 มิ.ย.59 เพราะบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องปิดอุปกรณ์ 2G ทันทีเมื่อมาตรการเยียวยาฯ สิ้นสุด

เนื่องจากเอดับบลิวเอ็นจะเช่าอุปกรณ์ 2G ของทีโอที เพื่อให้บริการต่อไป ควบคู่กับคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่เอดับบลิวเอ็นประมูลได้ ส่วนลูกค้า 2G เดิมที่ยังไม่โอนย้าย จำนวน 3.7 แสนเลขหมาย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาจะถูกปิดระบบทันที

นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับการเช่าอุปกรณ์ 2G ของทีโอทีนั้นมีระยะเวลา 5 ปี แต่ทั้งนี้ ต้องดูการใช้งานของลูกค้า แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปี ระบบ 2G ก็จะหมดไป เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ลูกค้าต้องเปลี่ยนเครื่องตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

***แจส จ่ายค่าปรับ 200 ล.

ขณะที่ในวันเดียวกัน เวลา 10.00 น. นายปวีณ ชัยปราการ ตัวแทนผู้บริหาร บริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด ได้นำเช็กค่าปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มามอบต่อ กสทช.แล้วเช่นกัน โดยมี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้รับมอบ

นายฐากร กล่าวว่า แจส ได้นำเงินจำนวนทั้งสิ้น 196,655,644.92 บาท มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. แบ่งเป็นค่าเสียหายเพิ่มเติมในกรณีที่บริษัทไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (คำนวณถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ที่ AWN นำเงินมาชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz) จำนวน 196,073,991.61 บาท และดอกเบี้ย 7.5 % ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-30 มิ.ย.2559 อีกจำนวน 581,653.31 บาท ทำให้ขณะนี้นับว่าปัญหาคลื่น 900 MHz ได้ยุติแล้ว

***กสทช.เร่งส่งเงินเข้ารัฐ

นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช.จะนำเงินส่งเข้ากระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 18,334,740,728.20 บาท แบ่งเป็นเงินค่าหลักประกันสัญญา และค่าเสียหายเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยปรับจากแจส จำนวน 644,000,000 บาท และ 196,655,644.92 บาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz งวดแรก ที่ได้รับจาก เอดับบลิวเอ็น จำนวน 8,602,800,000 บาท และเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอล งวดที่ 3 พร้อมค่าปรับกรณีผิดนัดชำระของผู้ประกอบการทีวีทั้ง 22 ช่อง จำนวน 8,891,285,083.33 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการนำเงินส่งเข้ารัฐมากกว่าเดิม 840,655,644.92 บาท

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช.จะเดินหน้าดูแลมาตรการเพื่อสังคม และคุ้มครองผู้บริโภคตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน ทั้งการกำกับคุณภาพการให้บริการในเรื่องอัตราค่าบริการ การขยายโครงข่าย และคุณภาพของสัญญาณให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง ทั่วถึง ในส่วนของกิจการโทรทัศน์สำนักงาน กสทช.จะเร่งเรื่องการดำเนินการแจกคูปองดิจิตอลทีวีรอบใหม่โดยเร็ว

โดยในวันที่ 4 ก.ค. 2559 กสทช.จะจัดทำประชาพิจารณ์รับความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าบริการโทรคมนาคมย่าน 1800 และ 900 MHz ที่เหมาะสม โดย กสทช.จะรับฟังปัญหา และอุปสรรคจากผู้ให้บริการก่อนจะมีคำสั่งจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อออกประกาศบังคับใช้เป็นทางการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น