รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ชี้ กรณีพิพาท ทีโอที กับ กสทช. นำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้มาจากเอไอเอสกลับไปดำเนินการต่อ ระบุเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ชี้ขาดไม่ได้ นายกรัฐมนตรีตัดสินไม่ได้ ส่วนจะใช้มาตรา 44 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.
วันนี้ (30 ก.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ว่า ได้มีการเชิญตัวแทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มาพูดคุยก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งทั้งสองหน่วยงานยืนยันในแนวทางของตนเอง ที่ต้องการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ กลับไปดำเนินการต่อ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายตนเองชี้ขาดไม่ได้
“เรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายผมชี้ขาดอะไรไม่ได้ วันนั้นผมก็ถาม ทางทีโอทีบอกว่า คลื่นเมื่อหมดอายุต้องกลับมาเป็นของทีโอที จะเอาไปทำอะไรต่อก็เรื่องของท่าน เมื่อ กสทช. จะเอาไปทำมันไม่ถูก ทาง กสทช. อธิบายว่า คลื่นพอหมดอายุกลับมาเป็นสมบัติของประชาชนของรัฐ ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่บริหารจัดการ ถ้า กสทช. ไม่ทำก็จะมีความผิด เขาจำเป็นต้องทำ เมื่อเขามีเหตุผลอย่างนั้นไม่ใช่หน้าที่ผมไปตัดสิน ถ้าคิดว่าเขาทำได้ก็ให้ทำไป ถ้าทีโอทีเห็นว่าไม่ถูกเป็นเรื่องทีโอทีไปฟ้องร้อง ซึ่ง กสทช. เขาก็บอกว่าเขาต้องเดินหน้าตามมติ ส่วนใครเห็นว่าทำไม่ได้ จะฟ้องร้องอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ขององค์กรนั้น” นายวิษณุ กล่าว
้ทั้งนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่า ปัญหาเรื่องนี้ใช้มาตรการของรัฐบาลไปบังคับไม่ได้ และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีตัดสินไม่ได้ ส่วนต้องใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเรื่องนี้ นายวิษณุ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็น เพราะมองว่าเป็นเรื่องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)