xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ทำงาน ร้องศาล ปค.สูงสุด สั่งประชามติเป็นโมฆะ อ้าง กกต.แจกจ่ายร่าง รธน.ไม่ทั่วถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
“เรืองไกร” ไม่พลาด ร้องศาลปกครองสูงสุดสั่งประชามติเป็นโมฆะ ยกเหตุ กกต.แจกจ่ายร่าง รธน.ไม่ทั่วถึง และละเว้นดำเนินการกับนายกฯ ที่พูดว่ารับร่าง รธน.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้มีคำพิพากษาสั่งให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเป็นโมฆะ โดยนายเรืองไร กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 บัญญัติให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่การทำประชามติที่ผ่านมามีผู้มีสิทธิออกเสียง 50 ล้านคน โดยพบว่าไม่มีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสารเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และไม่มีข้อมูลในการพิจารณาก่อนที่จะไปลงคะแนนเสียง ทั้งที่ กกต.ได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวถึง 2,991 ล้านบาท และมีงบประมาณในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญวงเงิน 67 ล้านบาท โดยราคากลางร่างรัฐธรรมนูญฉบับละ 15 บาท หากนำงบประมาณทั้งหมดไปจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจะได้ร่างรัฐธรรมนูญถึง 4.4 ล้านเล่ม

ดังนั้น การที่ กกต.ไม่จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และเผยแพร่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทราบโดยทั่วไปอย่างทั่วถึง จึงถือเป็นการทำผิดระเบียบของ กกต.เอง และเข้าลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542

นอกจากการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กกต.ยังไม่ดำเนินการตามกฎหมายต่อกรณี นายกรัฐมนตรีออกมาพูดว่าจะรับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนถึงวันลงประชามติ ทั้งที่การพูดดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานที่ราชการอย่างเปิดเผย และพูดในฐานะนายกฯและหัวหน้า คสช. การกระทำดังกล่าวจึงขัดต่อมติที่ประชุม กกต.ครั้งที่ 10/2559 ที่ กกต.ได้เสนอขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการปฏิบัติในการออกเสียงประชามติ โดยให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในหน่วยงานรัฐทุกสังกัดวางตัวเป็นกลาง ไม่ปฏิบัติการใดๆ ในลักษระเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ และ ครม.ก็มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติตามที่ กกต.เสนอ แต่ กกต.กลับไม่ดำเนินการตามกฎหมายต่อนายกฯ เข้าข่ายการปล่อยปละละเลยให้นายกฯ กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ตนจึงนำเรื่องมาร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้วินิจฉัยซึ่งหากปรากฏว่า กกต.ไม่ได้จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้มีสิทธิอย่างครบถ้วนตามกฎหมายบังคับเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม ขอให้ศาลสั่งให้ผลการออกเสียงประชามติเป็นโมฆะ


กำลังโหลดความคิดเห็น