xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุ้มครองสิทธิชี้แสดงความคิดเห็นลงประชามติได้ แต่อย่าละเมิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระบุ ประชาชนแสดงความคิดเห็นลงประชามติ 7 ส.ค.ได้ แต่อย่าละเมิดสิทธิผู้อื่น หลังเว็บไซต์ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานพิเศษของผู้แสดงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (29 ก.ค.) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม 2 กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในการแถลงข่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 โดยกล่าวว่า สืบเนื่องเมื่อวันที่ 26 ก.ค.59 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (www.ohchr.org) ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค. 2559 นี้ ทำนองว่าห้ามออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะหรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย รณรงค์ให้สาธารณชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะถูกดำเนินคดี โดยมีโทษที่ระบุไว้ในกฎหมายสูงสุดถึง 10 ปี และยังตั้งค่าปรับในอัตราที่สูง รวมถึงตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี

นางกรรณิการ์กล่าวอีกว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้กำหนดหลักประกันเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว

“พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เป็นกฎหมายที่รองรับหลักประกันดังกล่าว ทั้งยังเป็นกฎหมายสำคัญที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้ในการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติ และการประกาศผลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 61 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีเจตนารมณ์ในการรับรองสิทธิของชนชาวไทย ในการ แสดงความคิดเห็นโดยการออกเสียงประชามติ โดยจะต้องไม่มีผู้ใดแทรกแซงด้วยการก่อความวุ่นวาย ก่อให้การออกเสียงเกิดความไม่เรียบร้อย”

นางกรรณิการ์กล่าวต่อว่า การที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ จำเป็นต้องมีบทกำหนดความผิดและโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองนั้น เป็นการกำหนดโดยคำนึงถึงความจำเป็นตามหลักของกฎหมายเพื่อป้องกันการแสดงความคิดเห็นอันมีความมุ่งหวังเพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง รวมทั้งการก่อความวุ่นวาย อันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของสังคมในภาพรวม โดยมีเจตนารมณ์เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ตลอดจนเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะร่วมการลงประชามติ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ซึ่งสอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งนี้ บทบัญญัติฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง

นางกรรณิการ์กล่าวเพิ่มว่า ทั้งนี้ มาตรา 61 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 19 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ก) และเป็นไปตามโดยชอบด้วยกฎหมายดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้มีการจับกุมผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวหลายราย นางกรรณิการ์เปิดเผยว่า ต้องดูรายละเอียดว่าเป็นการจับกุมเรื่องอะไร ข้อหาอื่นหรือไม่และต้องดูเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ ผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง

สำหรับ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ระบุว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น