ประธานผู้อำนวยการเขตกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า ไม่มีการรีดไถผู้ประกอบการ เพื่อจัดทำป้ายรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่อดีต ส.ส. ปชป. กล่าวหา แต่เป็นการขอผู้สนับสนุนตามความสมัครใจ ระบุ กกต. ให้ป้ายแค่ 6 ป้าย กทม. ให้งบเพียง 1 ป้าย ขณะที่พื้นที่กว้าง ให้ประชาชนใช้สิทธิ 80% เป็นเรื่องยาก
วันนี้ (18 ก.ค.) นายหัสฎิณ ปิ่นประชาสรร ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา ในฐานะประธานผู้อำนวยการเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวชี้แจงกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีการสั่งให้ข้าราชการขอเงินสนับสนุน หรือสปอนเซอร์จากผู้ประกอบการรายละ 5,000 บาท เพื่อจัดทำป้ายรณรงค์ออกเสียงประชามติวันที่ 7 ส.ค. ว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดงบประมาณสำหรับประชาสัมพันธ์ให้กับเขต แต่น้อยมาก และให้ป้ายมา 6 ป้าย ขนาด 1 เมตร คูณ 4 เมตร และเพิ่งจัดส่งมาให้ไม่นาน
ขณะที่ทาง กทม. ก็มีการจัดงบประมาณให้กับ 50 เขต จำนวน 23.77 ล้านบาท แต่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร และให้มาเพียง 1 ป้ายเท่านั้น ขณะที่มีการตั้งเป้าต้องเชิญชวนประชาชนออกมาลงคะแนนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ทางเขตจึงต้องพยายามรณรงค์ให้มากที่สุด ซึ่งตนยอมรับว่า มีการขอสปอนเซอร์จริง แต่เป็นความสมัครใจ เพราะไม่ได้ไปรบกวนบ่อย ๆ นาน ๆ มีกิจกรรมสำคัญถึงขอความร่วมมือไม่ได้ไปบังคับ โดยใช้อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว พรรคพวกเพื่อนฝูง หรือคนที่รู้จักเท่านั้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี เพราะเขารู้ว่าเราไม่ได้นำมาใช้ส่วนตัวแต่เป็นการช่วยราชการ และยังเป็นการโฆษณาธุรกิจไปในตัวด้วย
“ผมยืนยันว่า ไม่มีการใช้ลูกน้องไปรีดไถอย่างที่กล่าวหา ประเภทเดินเข้าไปแล้วขอให้สนับสนุนรายละ 5 พันอย่างที่กล่าวหานั้นไม่น่าเป็นไปได้ หมดสมัยไปแล้ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่นึกอยากจะทำก็ทำ ชาวบ้านเขาไม่ยอม ถ้ามีรีดไถจริงไม่ต้องรอให้นายวัชระมาบอกหรอก ชาวบ้านเขาโวยกันเองแล้ว นอกจากจะไม่ได้รับความร่วมมือแล้ว ยังจะถูกร้องเรียน หรือฟ้องดำเนินคดีได้ง่าย ๆ และเมื่อได้เงินมาเราก็มีการหนังสือขอบคุณให้ไปด้วย ถือเป็นการกล่าวหาเลื่อนลอย” นายหัสฎิณ กล่าว
นายหัสฎิณ กล่าวว่า งบที่ได้รับการจัดสรรมา หากจะมองว่าพอมันก็พอ อยู่ที่มุมมองของแต่ละเขต หากเห็นว่าติดไป 1 - 2 ป้ายเพียงพอแล้วก็ ไม่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่มองว่าแต่ละเขตมีพื้นที่กว้างขวาง หากจะให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในความเป็นจริงนั้นมันยากมาก เพราะขนาดเลือกตั้งทั่วไปยังได้แค่ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากมีคนออกมาน้อยเราก็จะถูกตำหนิว่าไม่ช่วยรณรงค์ หรือปล่อยเกียร์ว่าง ซึ่งที่ผ่านมา ทุกเขตก็ทำงานกันแข็งขัน มีการจัดทีมเดินในพื้นที่ทุกวันในช่วงเย็น รวมถึงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ก็โดยให้เจ้าหน้าที่ไปตามชุมชนต่าง ๆ ถือป้ายชวนมาใช้สิทธิ์ หรือ เวลาไปตรวจงาน หรือพัฒนาตามชุมชน ก็มีการถือป้าย และแจกใบปลิวแผ่นพับที่ กกต. ให้มาด้วย ส่วนป้ายที่ได้รับการสนับสนุนมาก็จะนำไปติดตามแหล่งชุมชน เช่น บริเวณสถานที่ราชการ โรงเรียน วัด มัสยิด
“การขอสปอนเซอร์ก็แล้วแต่มุมมอง ไม่มีผิดถูก แต่ต้องไม่ไปรีดไถ ถ้าเขาให้มาด้วยความไม่สมัครใจก็ไม่ดีกับทั้งสองฝ่าย จะมองว่า มีงบ 100 ก็ทำแค่นั้นไม่ควรทำ 300 มันก็ได้ แต่เวลาคนมาใช้สิทธิน้อย ก็อย่ามาโทษพวกเราแล้วกัน เพราะต้องยอมรับว่า การเชิญชวนประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงประชามติครั้งนี้ ยากกว่าการลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะไม่มีนักการเมือง หรือหัวคะแนนมาทำ มีแต่ฝ่ายข้าราชการ ที่สำคัญ เราไม่มีอำนาจไปควบคุมผู้ประกอบการ เพราะมีกฎหมายปกครองควบคลุมอย่างเคร่งครัด ถ้าไปข่มขู่ก็มีแต่จะตาย ผมจึงเชื่อว่าทุกเขตไม่มีใครทำอย่างนั้นแน่นอน” นายหัสฎิณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายหัสฎิณ กล่าวยอมรับว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ตามจุดต่าง ๆ มีความหนักใจ และเกรงว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิน้อย แต่ส่วนใหญ่ก็มีความเข้าใจในสาระของร่างรัฐธรรมนูญในระดับหนึ่ง แต่การรณรงค์จะเน้นให้ไปใช้สิทธิเป็นหลัก โดยพยายามเลี่ยงไม่พูดประเด็นชี้นำ ซึ่งตนอยากความร่วมมือกลุ่มต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้มาร่วมทำงานกับเขตจะดีกว่า เพราะที่ผ่านมามีการประกาศรับอาสาสมัครเป็นกรรมการในหน่วยลงคะแนน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ จนต้องไปขอแรงประธานชุมชนมาช่วย เชื่อว่า หากมีอาสาสมัครมาร่วมงานก็จะแก้ข้อครหาเรื่องโกงไม่โกงได้ระดับหนึ่ง ส่วนการเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด ตนมั่นใจว่า ทั้ง 50 เขต พร้อมที่จะปฏิบัติงานเพื่อให้การลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว