xs
xsm
sm
md
lg

พนง.ร้อง “บิ๊กตู่” กกต.ผลาญงบดูงานต่างประเทศไม่สนหน้าที่ แย้มกลุ่มอำนาจเก่าแฉ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
พนักงาน กกต.ร้องนายกฯ กกต.ผลาญงบดูงานต่างประเทศเป็นว่าเล่น อ้างไม่ใช่ ขรก. ฉะไม่สนใจมีบทบาทปฏิรูป ประชามติ ส่องานล่าช้า เหตุองค์ประชุมไม่ครบ แฉมัวแต่ไปดูงานแค่วันเดียว 8-10 วันที่เหลือเที่ยว แถมเพิ่มงบ นศ.พตส. เบิกเบี้ยเลี้ยงเต็มที่ ทั้งที่การเงิน กกต.ฝืดเคือง ปูด ปธ.กกต.มีจัดทริปเยี่ยมลูกตัวเอง แย้มข้อมูลมาจากกลุ่มอำนาจเก่า เชื่อมผู้มีอำนาจภายนอกหวังเปลี่ยน กกต.ชุดใหม่

วันนี้ (18 เม.ย.) มีการเผยแพร่หนังสือร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงนายกรัฐมนตรี อ้างว่าเป็นพนักงาน กกต. ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ในหมู่นักการเมือง ผู้บริหารสำนักงาน กกต. ข้าราชการหน่วยงานอื่น รวมถึงผู้สื่อข่าว โดยมีใจความสำคัญระบุว่า ตามที่ท่านเคยมีคำสั่ง ห้ามข้าราชการไปดูงานต่างประเทศเพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินนั้น คณะกรรมการ กกต.ตีความแล้วบอกว่า ท่านห้ามเฉพาะข้าราชการ แต่ กกต.ไม่ใช่ราชการ ฉะนั้นจึงไปได้ และจากนั้นมาคณะกรรมการ กกต.ไปดูงานต่างประเทศกันเป็นว่าเล่น โดยอาศัยดูงาน 1 วัน และเที่ยว 5-8 วัน โดยขนทีมที่ปรึกษาไปเกือบทั้งหมดทุกครั้ง เสียค่างงบประมาณครั้งละ 2-5 ล้านบาททุกครั้ง

หนังสือร้องเรียนระบุต่อว่า และช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ กกต.ต้องมีบทบาทอย่างยิ่งในการปฏิรูปประเทศ ต้องเตรียมจัดทำประชามติ ต้องเตรียมความพร้อมของการลงคะแนน แต่คณะกรรมการ กกต.ทั้ง 5 คนกลับไม่สนใจ แต่สนใจที่จะพานักศึกษา พตส.ไปดูงานต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 ประเทศ คือ อเมริกา ออสเตรีย สกอตแลนด์ และเกาหลี และแต่ละท่านก็อยากไปทุกประเทศ จึงจัดให้มีเหลื่อมวันไปเพื่อที่ตัวเองจะได้ไปให้มากที่สุด โดยอ้างว่าจะไปดูการเลือกตั้ง แต่กำหนดการ คือ ดูเลือกตั้ง 1 วัน อีก 8-10 วันที่เหลือเที่ยว

หนังสือร้องเรียนระบุด้วยว่า นอกจากนี้ กกต.ชุดนี้ยังจัดสรรงบประมาณการดูงานของนักศึกษา จากเดิมหัวละ 50,000 บาท ก็เพิ่มให้เป็นหัวละ 70,000 บาท ทั้งๆ ที่นักศึกษา กลุ่มนี้มีอันจะกินกันทุกคน และงบประมาณนี้ก็เป็นงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น และช่วงนี้การเงินของ กกต.ก็ฝืดเคือง แต่คณะกรรมการ กกต.ก็คิดที่จะตัดเงินที่พึงจะได้ของพนักงานออก และเอาไปเพิ่มให้นักศึกษากลุ่มนี้

“สำหรับคณะกรรมการกลุ่มนี้นอกจากจะเบิกค่าเดินทางค่าอาหารและที่พักตามสิทธิแล้ว ยังเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงตามสิทธิอีกด้วย ทั้งๆ ที่ทัวร์คิดรวมหมดแล้ว ไม่ต้องมีเบี้ยเลี้ยง แต่ก็ยังเบิกกันเต็มที่ และสำหรับค่าทัวร์ เช่น เกาหลี ปกติ ค่าทัวร์ 5-7 วันประมาณ 30,000-40,000 บาท แต่ทัวร์ของ กกต.ชุดนี้ 70,000 บาท และเมื่อเทียบกับทัวร์อื่นแล้วไม่แตกต่างกัน นั่นคือมีการกินหัวคิวค่าทัวร์ ส่วนทัวร์ประเทศอื่นก็มีเก็บเงินเพิ่ม แต่มากน้อย เช่น ออสเตรีย เพิ่ม 2,000 บาท จริงๆ แล้วอ่านตามหนังสือพิมพ์ ค่าทัวร์ 8 วัน 60,000-70,000 บาทก็พอ แต่ก็ทำเป็นเก็บเงิน เพื่อให้มีเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง” หนังสือร้องเรียนระบุ

หนังสือร้องเรียนยังระบุด้วยว่า สำหรับประธาน กกต.ไปอเมริกา และจัดทริปไปเยี่ยมลูกของตัวเองด้วย ทำไมไม่ไปเอง ต้องเอาเงินงบประมาณไปเยี่ยม คนระดับนี้ทำอะไรตามอำเภอใจได้อย่างนั้นหรือ อะไรก็ไม่สำคัญเท่า การละทิ้งหน้าที่ อันสำคัญ ที่ควรจะเดินสายไปจังหวัดต่างๆ เพื่อเตรียมการลงประชามติ แต่กลับแย่งกันไปต่างประเทศ พนักงาน กกต.ก็ได้แค่ทำตามคำสั่ง ไม่สามารถออกเสียงอะไรได้ เพราะถ้าใครไม่เชื่อก็จะถูกรังแก เหมือนเลขาธิการ กกต.ที่ถูกปลดออกไป

ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนดังกล่าวยังระบุทิ้งท้ายว่า “ถ้าเขาอยากไปเที่ยว ก็ให้ไปเถอะ ขอคณะกรรมการชุดใหม่มาทำหน้าที่แทนได้ไหมคะ”

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มที่อ้างตัวเป็นพนักงาน กกต.ลักษณะเดียวกันนี้ก็ได้มีการทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ กกต.กรณีมีแนวคิดจะตัดเงินค่าตอบแทนต่างๆ ของพนักงาน เพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณสำนักงานไม่เพียงพอพร้อมมีการตั้งคำถามต่อผู้บริหาร กกต.ว่าจะยอมเสียสละค่าตอบแทนก่อนเพื่อไม่ให้กระทบพนักงานหรือไม่ มาแล้วครั้งหนึ่ง และการเผยแพร่ก็กระทำในทำนองเดียวกัน ทำให้มีการวิเคราะห์กันในหมู่ผู้บริหาร กกต.ว่า การกระทำดังกล่าวน่าจะมาจากพนักงานกลุ่มอำนาจเก่าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ กกต.ปลดนายภุชงค์ นุตราวงศ์ ออกจากการเป็นเลขาธิการ กกต.เพราะข้อมูลที่ถูกเขียนเป็นหนังสือร้องเรียนทั้งสองครั้งนั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่พนักงาน กกต.ทั่วไปจะทราบ นอกจากนี้ยังเห็นว่าลักษณะการเผยแพร่ข้อมูลมีการเชื่อมกับผู้มีอำนาจภายนอกองค์กรโดยมุ่งหวังให้มีการเปลี่ยน กกต.ยกชุด เพื่อที่ต้องการวางฐานใหม่ในองค์กร กกต.

ขณะเดียวกัน โดยข้อเท็จจริงการไปศึกษาดูงานต่างประเทศของ กกต.ร่วมกับนักศึกษา พตส.ในครั้งนี้ ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พนักงาน กกต.ถึงความเหมาะสมค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นช่วงที่ กกต.ต้องรับผิดชอบการจัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแต่ กกต.กลับติดภารกิจไปต่างประเทศโดยตามกำหนดการระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย. นายประวิช รัตนเพียร และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ เดินทางไปดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ แต่นายประวิชได้ยกเลิกเพราะต้องการไปร่วมประชุมระหว่าง กกต.กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่วันที่ 19-26 เม.ย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.จะเดินทางไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วงเวลาเดียวกันนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็จะเดินทางไปดูงานประเทศออสเตรีย โดยจะออกเดินทางวันที่ 18 เม.ย. ส่วนนายบุญส่งจะเดินทางไปดูงานที่ประเทศสกอตแลนด์ในเดือน พ.ค. จึงทำให้เกรงว่าจะกระทบต่อการเตรียมงานจัดการออกเสียง ยิ่งในช่วงสัปดาห์นี้ที่คาดการณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับ และ กกต.จะต้องมีการประชุมพิจารณาเพื่อออกระเบียบสำคัญอย่างน้อย 4 ฉบับรองรับ ประกอบด้วย 1. ระเบียบว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2. ระเบียบการพิจารณาการคัดค้านฯ 3. ระเบียบการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการจัดสรรเวลาออกอากาศ

4. ระเบียบการใช้จ่ายเงินในการออกเสียงฯ การไปต่างประเทศของ กกต.อาจมีผลกระทบให้การออกระเบียบต่างๆ ล่าช้าไป หรือกรณีมีปัญหาร้องเรียนจากการรณรงค์ที่อาจเกิดขึ้นแล้วต้องการให้กกต.วินิจฉัยโดยเร็วว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจาก กกต.จะมีปัญหาองค์ประชุม เพราะแม้มาตรา 8 พ.ร.ป.กกต.จะกำหนดว่า องค์ประชุมต้องไม่น้อยกว่า 3 คน แต่บทบัญญัติหลักก็กำหนดให้ 3 ใน 4 ของกรรมการเท่าที่มีอยู่เป็นองค์ประชุมซึ่งที่ผ่านมา กกต.ตีความว่าต้อง 4 คนจึงเป็นองค์ประชุม อีกทั้งกรณีเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา กกต.จะยึดว่าต้องอยู่ครบ 5 คนจึงพิจารณาวินิจฉัย


กำลังโหลดความคิดเห็น