xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เชิญทุกฝ่ายร่วมดีเบตร่าง รธน.ออกโทรทัศน์ เน้นเนื้อหาใกล้ตัวประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร
กกต.จัดถกเนื้อหาร่าง รธน.ทางโทรทัศน์ 10 นัด เริ่ม 25 ก.ค. เชิญไอลอว์-กลุ่ม ปชต.ใหม่-ภาคประชาชน-กรธ.ร่วมเวที เน้นเนื้อหาใกล้ตัวประชาชน พร้อมเผยแพร่ร่าง รธน.ผ่านหนังสือพิมพ์ 8 ฉบับช่วงโค้งสุดท้าย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการประสานกับสถานีโทรทัศน์เพื่อจัดเวทีถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ทั้งฝ่ายเห็นด้วยกับเห็นต่างถกเนื้อหาช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการทำประชามติ 7 ส.ค.นี้ ว่า ตนได้หารือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแล้วว่าจะมีการจัดรายการถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเผยแพร่ระหว่างเวลา 13.00-14.00 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน รวม 10 ครั้งใน 10 วันระหว่างวันที่ 25 ก.ค. จนถึงวันที่ 5 ส.ค.นี้

สำหรับการจัดเวทีถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทางสถานีโทรทัศน์นั้น กกต.เป็นผู้กำหนดประเด็นเนื้อหาทั้งหมด 10 หัวข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหากระทบความเป็นอยู่ใกล้ตัวเกี่ยวกับสิทธิที่ประชาชนมีความห่วงใย และมีการปล่อยข่าวให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดมาตลอด เช่น บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เบี้ยผู้สูงวัย การศึกษาฟรี 12 ปี การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการรักษาอธิปไตยของชาติ และอาจมีประเด็นการเมืองที่เป็นที่สนใจ เช่น ที่มานายกฯ เป็นต้น

“เราจะให้มีกลุ่มนักวิชาการจากเครือข่ายไอลอว์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มาร่วมเวทีในฐานะที่เป็นผู้เสนอขอให้มีเวทีพูดคุยอย่างเสรี จำนวน 4 ครั้ง เชิญกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนทั่วไปอีก 6 ครั้ง และจะพยายามเชิญตัวแทนจาก กรธ.มาร่วมถกปัญหา ภายใต้บรรยากาศของการพูดคุยกันที่เป็นสาระ ไม่มีการใช้สำนวนตีรวน เอาชนะ ปลุกระดมหรือเอาแต่ความสนุกสนาน แต่เป็นสุภาพชนในฐานะที่แสดงความห่วงใยต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการควบคุมไม่ให้เกิดสภาพฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเสียงข้างมากรุมอีกฝ่าย และจะเป็นการบันทึกเทปเพื่อแพร่ภาพ ไม่ใช่รายการสดแต่อย่างใด”

ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต.กล่าวถึงการตีพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย ว่า เราจะเริ่มทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป เบื้องต้น กกต.ได้เตรียมวงเงิน ค่าใช้จ่าย 10 ล้านบาท สำหรับการซื้อเนื้อที่หนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย 8 ฉบับ ได้แก่ เดลินิวส์ ไทยรัฐ มติชน แนวหน้า คมชัดลึก ฯลฯ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์คอการเมืองที่มียอดพิมพ์รวมต่อวันราว 5 ล้านฉบับ และจะขออนุมัติตามมาอีก 2 ฉบับได้แก่ ไทยโพสต์ และโพสต์ทูเดย์ โดยจะตีพิมพ์ฉบับละ 1 วันไล่กันไป พิมพ์เพิ่มเป็น 8 หน้า หรือเพิ่ม 2 คู่กระดาษ เพิ่มเติมจากจำนวนหน้ากระดาษปกติ และกำหนดว่าต้องใช้ขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กกว่าขนาดตัวอักษรในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ และหากมีพื้นที่เหลือก็จะตีพิมพ์ลิงก์เว็บไซต์อื่นๆ ของ กกต.ที่จะให้ความรู้และเชิญชวนไปออกเสียงประชามติ

“เจตนาของ กกต.คือต้องการเผยแพร่ให้มากที่สุด ด้วยค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งตกแล้วฉบับละไม่เกิน 2 บาท ถูกกว่าหาก กกต.จัดพิมพ์และเผยแพร่เอง” นายธนิศร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทย เพื่อให้ชาวต่างชาติ องค์กรต่างชาติ และทูตต่างชาติในประเทศไทยมีโอกาสเข้าใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ นายธนิศร์กล่าวว่า กกต.มีแนวคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ติดขัดที่ไม่มีหน่วยงานที่แปล แล้ว กรธ.ให้การรับรองว่าถูกต้องอย่างเป็นทางการ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดในการเผยแพร่มันเกิดกว่าที่ กกต. จะรับผิดชอบได้


กำลังโหลดความคิดเห็น