xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"รับโรดแมปไม่นิ่ง วอนอย่ากำหนดวันเดือนปีตายตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"วิษณุ" ไม่เอาวัน เดือน ปี ผูกมัดโรดแมป หากประชามติไม่ผ่าน ชี้คะแนนภาค-จังหวัด เป็นปัจจัยตีความถึงสาเหตุ หากร่าง รธน.ถูกคว่ำ ด้าน กกต.เตรียมจัดดีเบตเนื้อหาร่าง รธน. ออกทีวี พร้อมสรุปเนื้อหาร่าง รธน.ลงหนังสือพิมพ์ "นิพิฎฐ์" จี้รีบส่งร่าง รธน.ให้ถึงมือประชาชนสำคัญกว่า

จากกรณี อาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เจ้าของฉายา"โหร คมช." ได้กล่าวถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในบ้านเมือง จนทำให้การเลือกตั้งมีการเลื่อนออกไปหลังปี 2560 นั้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากร่าง รธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็ยังมีทางออก เพียงแต่ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่า ขั้นตอนในการร่าง รธน.ใหม่ว่าจะต้องเป็นอย่างไร ใช้เวลากี่วัน แต่ทั้งนี้ หากร่าง รธน.ไม่ผ่านจริง แต่จะยังเป็นไปตามโรดแมป ส่วนการร่างใหม่จะเสร็จเร็วหรือช้า อยู่ที่ว่าใช้กี่คนในการร่าง ถ้าร่างกันไม่กี่คน ก็เสร็จเร็ว ถ้าหลายคนก็เสร็จช้า เพราะมากคนก็มากความ

"ผมไม่อยากเอาเรื่องของ วัน เวลา มาผูกมัด เดี๋ยวจะกลายเป็นเอาคำพูดไปเล่นกันว่า ยืดโรดแมป วัน เดือน ปี ไม่สามารถพูดชัดเจนได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งสื่อก็รู้ว่าขึ้นอยู่กับอะไร แต่ทั้งนี้การแก้ไขร่าง รธน. จะเกิดหลังจากรู้คะแนนประชามติ" นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะเป็นคนตีความว่า ที่ร่าง รธน.ไม่ผ่าน เกิดจากสาเหตุอะไร นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบใครจะเป็นคนตีความ ซึ่งบางทีการที่ร่าง รธน.ไม่ผ่าน ดูกันก็รู้แล้ว สามารถเดาได้ เช่น ดูจากคะแนนของจังหวัด ดูภาค ย่านไหน มีคะแนนออกมาเท่าไร กี่เปอร์เซ็นต์ มันดูได้ มันพอจะบอกได้ เหมือนกับคะแนน ส.ส.บางพรรคเวลาจะเช็กคะแนนนิยม รู้ว่าจะสามารถเช็คได้จากตรงไหน คนกรุงเทพฯ คิดอย่างไร คนภาคไหนเลือกกี่เปอร์เซ็นต์ แค่นี้ก็เดาหน้าตาออกได้ ถึงความนิยมของพรรค

เมื่อถามว่า ผลต่างคะแนนระหว่างรับ หรือไม่รับ ร่าง รธน. จะมีผลอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เอาเป็นว่าถ้าไม่ผ่าน ก็ร่างใหม่ ส่วนการร่างใหม่จะมีขั้นตอนอย่างไร จะเอาฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาปรับหรือไม่ ตนไม่รู้จริงๆ ถ้าตอบไปเดี๋ยวคนก็จะบอกว่า รู้ได้อย่างไร เกิดตนตอบไปเป็น Xอาจจะมีคนพร้อมใจให้ผลออกมาเป็น Yวันนี้มีหลายอย่างในประเทศไทยที่ตั้งใจให้เป็นอย่างหนึ่ง แต่คนพูดกันมากก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยความเสียดาย ทั้งๆ ที่อันเดิมก็ดีแล้ว เมื่อถามว่า รธน.ชั่วคราวจะใช้ไปถึงเมื่อไร รองนายกฯ กล่าวว่าใช้ไปถึงปี60

**กกต.จัดดีเบตร่าง รธน.ออกทีวี

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึง การประสานกับสถานีโทรทัศน์ เพื่อจัดเวทีถกเนื้อหาร่าง รธน. ให้ทั้งฝ่ายเห็นด้วย กับเห็นต่าง ถกเนื้อหาช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนการทำประชามติ 7 ส.ค.นี้ ว่า ได้หารือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแล้ว ซึ่งจะเผยแพร่ระหว่างเวลา 13.00 น. -14.00 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน รวม 10 ครั้ง ใน 10 วัน ระหว่างวันที่ 25 ก.ค. จนถึงวันที่ 5 ส.ค.นี้

ทั้งนี้ กกต.จะเป็นผู้กำหนดประเด็นเนื้อหาทั้งหมด 10 หัวข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหากระทบความเป็นอยู่ใกล้ตัว เกี่ยวกับสิทธิ ที่ประชาชนมีความห่วงใย และมีการปล่อยข่าวให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดมาตลอด เช่น บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เบี้ยผู้สูงวัย การศึกษาฟรี 12 ปี การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการรักษาอธิปไตยของชาติ และอาจมีประเด็นการเมืองที่เป็นที่สนใจ เช่น ที่มานายกฯ เป็นต้น

"เราจะให้มีกลุ่มนักวิชาการ จากเครือข่ายไอลอว์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มาร่วมเวที ในฐานะที่เป็นผู้เสนอขอให้มีเวทีพูดคุยอย่างเสรี จำนวน 4 ครั้ง เชิญกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนทั่วไปอีก 6 ครั้ง และจะพยายามเชิญตัวแทนจาก กรธ. มาร่วมถกปัญหา ภายใต้บรรยากาศของการพูดคุยกันที่เป็นสาระ ไม่มีการใช้สำนวนตีรวน เอาชนะ ปลุกระดม หรือเอาแต่ความสนุกสนาน แต่เป็นสุภาพชน ในฐานะที่แสดงความห่วงใยต่อเนื้อหาในร่างรธน. โดยจะมีการควบคุมไม่ให้เกิดสภาพฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเสียงข้างมาก รุมอีกฝ่าย และจะเป็นการบันทึกเทปเพื่อเพื่อแพร่ไม่ใช่รายการสดแต่อย่างใด" นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. บอกว่า พร้อมดีเบตกับกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรธน. โดยที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เรียกร้องให้ กกต. เป็นคนกลางนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ทางกกต.ไม่มีหน้าที่ ที่จะไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามถึงกรณี นายรังสิมันต์ โรม โฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า จุลสารการออกเสียงประชามติ หรือ บุ๊คเล็ต ของกกต. มีเนื้อหาสนับสนุนร่างรธน.นั้น นายสมชัย กล่าวว่า เอกสารดังกล่าว กกต.ให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งที่ประชุมของกกต.เห็นว่า มีเนื้อหาที่จำเป็นในการที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจร่างรธน. และคำถามพ่วง โดยกกต.เป็นผู้ขอความร่วมมือ กรธ.ให้เป็นผู้เขียนเนื้อหาที่เกี่ยวกับร่างรธน. ทั้ง 6 หน้า และสนช. เป็นผู้เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับคำถามพ่วง 2 หน้า และขอย้ำว่า เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรธน. ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ มีเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นเท็จ ไม่สามารถเผยแพร่ได้ หากเผยแพร่ จะเป็นความผิด

** จ้าง นสพ.ตีพิมพ์ร่าง รธน.

ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึง กรณีการตีพิมพ์ ร่างรธน.ทั้งฉบับ ในหนังสือพิมพ์รายวัน ฉบับภาษาไทยว่า เราจะเริ่มทะยอย ตีพิมพ์ ตั้งแต่ 21 ก.ค. เป็นต้นไปโดยการซื้อเนื้อที่ หนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย 8 ฉบับ ได้แก่ เดลินิวส์ ไทยรัฐ มติชน แนวหน้า คมชัดลึก ฯลฯ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ คอการเมือง ที่มียอดพิมพ์รวมต่อวันราว 5 ล้านฉบับ และ จะขออนุมัติตามมาอีก 2 ฉบับได้แก่ ไทยโพสต์ และ โพสต์ทูเดย์ โดยจะตีพิมพ์ ฉบับละ 1 วัน ไล่กันไป พิมพ์เพิ่มเป็น 8 หน้า หรือ เพิ่ม 2 คู่กระดาษ เพิ่มเติมจากจำนวนหน้ากระดาษปกติ และกำหนดว่า ต้องใช้ขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กกว่าขนาดตัวอักษรในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ และหากมีพื้นที่เหลือ ก็จะตีพิมพ์ลิ้งค์เว็บไซด์อื่นๆ ของ กกต. ที่จะให้ความรู้และเชิญชวนไปออกเสียงประชามติ

"เจตนาของกกต. คือต้องการเผยแพร่ให้มากที่สุด ด้วยค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งตกแล้วฉบับละไม่เกิน 2 บาท ถูกกว่าหาก กกต. จัดพิมพ์และเผยแพร่เอง" นายธนิศร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทย เพื่อให้ชาวต่างชาติ องค์กรต่างชาติ และทูตต่างชาติในประเทศไทยมีโอกาสเข้าใจเนื้อหาของร่างรธน. นายธนิศร์ กล่าวว่า กกต. มีแนวคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ติดขัดที่ไม่มีหน่วยงานที่แปล แล้วกรธ. ให้การรับรองว่าถูกต้องอย่างเป็นทางการ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดในการเผยแพร่ มันเกิดกว่าที่ กกต. จะรับผิดชอบได้

**ชี้เลยเวลาถกเถียง รธน.ออกสื่อ

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกกต. จะจัดดีเบตเนื้อหาร่างรธน.ออกทีวีว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ คงต้องขึ้นอยู่กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ว่าจะว่ากันอย่างไร แต่ตนคิดว่า ขณะนี้คงจะเลยเวลาที่จะออกมาถกกันแล้ว และถ้าจะมาเชิญตนไปออกรายการ ตนก็คงจะไม่ไป เพราะว่าไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากไปตัดกำลังใจกกต.ในสิ่งที่ทำอยู่

ส่วนกรณีที่ กกต. จะมีการรณรงค์ตีพิมพ์เนื้อหาสาระของร่างรธน. ลงในหนังสือพิมพ์นั้น ตนคิดว่าก็ได้เป็นเรื่องประโยชน์ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะสรุปไปในทางไหน ตนอยู่ในพื้นที่ ขอเรียนว่า ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับเอกสารตัวร่างรธน. และไม่ได้รับเอกสารสรุปสาระสำคัญเลย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่ต้องส่งเอกสารเหล่านี้ไปยังชาวบ้าน เพื่อได้อ่านและพิจารณาด้วยตัวเอง เพราะตนเชื่อว่า ถ้าหากสรุปลงหนังสือพิมพ์ ฝ่ายผู้ชี้แจง ก็คงจะเอาประเด็นที่โน้มน้าวให้ประชาชนลงมติรับร่างรธน. มาตีพิมพ์มากกว่าที่จะตีพิมพ์ในประเด็นที่มีปัญหา.
กำลังโหลดความคิดเห็น