xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แย้มทำตามกฤษฎีกาปมตั้งสังฆราช ลั่นยึดถูก-ผิด สั่งเข้มลดโทษคดีข่มขืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” รับยังไม่เห็นกฤษฎีกาตีความตั้งสังฆราช แย้มพร้อมปฏิบัติตาม ดูที่เจตนา เผยเคารพพระสงฆ์ที่เป็นพระสงฆ์แท้จริง ปัญหาอยู่ที่คน ต้องแก้ด้วย กม. ลั่นพิจารณาตามถูก-ผิด ไม่ใช่เรื่องสถานการณ์ ปัดรังเกียจใคร แต่เกี่ยวของกับคนทั้งประเทศต้องยุติ ปัดใช้ ม.44 มองคดีข่มขืนต้องแก้ต้นทางคือจิตสำนึก กม.แรงอยู่แล้ว สั่งดูเรื่องประกันตัว ลดโทษ ไม่ให้ง่ายและไม่ผิดหลักสากล เสียใจครอบครัวเหยื่อ

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เสร็จเรียบร้อยแล้วว่า ถึงเวลานี้ยังไม่เห็นว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งเรื่องดังกล่าวมาและตนยังไม่เห็น เป็นเรื่องการตีความทางกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าการตีความดังกล่าวมีคำตอบที่ชัดเจน และเป็นทางออกให้แก่สังคม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้าเป็นการตีความทางกฎหมายนั้นก็ถือว่าใช่ อำนาจอยู่ที่ใครก็ว่ามา แต่ยืนยันว่าตนยังไม่เห็นรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการตีความชัดเจนแล้วว่าอำนาจอยู่ที่ใคร ในส่วนของรัฐบาลก็พร้อมปฏิบัติตามเช่นนั้นใช่หรือไม่ หรือต้องดูผลกระทบรอบด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็พร้อมปฏิบัติตามอยู่แล้ว ถือว่าเป็นหน้าที่ แต่ถ้ามีปัญหาในเรื่องของความสุจริตก็ต้องแก้เพื่อให้เกิดความชัดเจน สังคมจะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มันเป็นการรังแกกันหรือเปล่า เราก็ต้องให้ความเป็นธรรม หรือว่ามีหลักฐานชัดเจนหรือไม่ ถ้ามีการเชื่อมโยงกันก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่าลืมว่าวันนี้กระแสสังคมขัดแย้งกันสูงและพุทธศาสนิกชนก็มีหลายฝ่ายด้วยกัน วันนี้จึงต้องดูที่เจตนา ในส่วนของรัฐบาลอะไรที่เป็นอำนาจทางกฎหมายเราก็ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับและเชื่อมั่น

“สำหรับผมเองเคารพพระสงฆ์ทุกรูปที่เป็นพระสงฆ์อย่างแท้จริง ศาสนาพุทธผมเคารพนับถืออยู่แล้ว แต่ปัญหาทั้งหมดมันอยู่ที่คน ซึ่งคนก็ต้องแก้กันและต้องยอมรับกันให้ได้ ถ้าอีกฝ่ายบอกว่าให้ออกมาร่วมกันแก้ไขปัญหาออกมาเคลียร์กันว่าปัญหาจะแก้กันอย่างไร ปัญหาก็ต้องแก้ด้วยกฎหมาย สร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น แล้วถ้าไปเชื่อมโยงกับใครแล้วจะทำอย่างไรต่อ วันนี้ในด้านของกฎหมายก็เดินไปในทุกๆ ส่วน ต้องสอบในเรื่องที่เกี่ยวข้องทุกๆ เรื่องที่มันพันกันไปหมด แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นมาหากมีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชในวันนี้แล้วเกิดปัญหา จะให้ผมรับผิดชอบไหวหรือ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีการชี้ชัดเจนว่าอำนาจเป็นของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นของมหาเถรสมาคม จะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ด้วยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่เรื่องของสถานการณ์ แต่ต้องพิจารณาในเรื่องของความถูก-ผิด ความเชื่อมโยงทางกฎหมายต่างๆ ทั้งหมดจะต้องวิเคราะห์ วันนี้ก็มีการตรวจสอบทั้งในเรื่องของการเงินและองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้ามันยังมีปัญหาอยู่ถ้ายังไม่สามารถตั้งได้ก็ตั้งไม่ได้เท่านั้นเอง เพราะตำรวจก็ต้องดูตรงนั้นด้วย กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น

“กฎหมายไม่ได้เขียนว่าอย่างไรก็ต้องตั้ง จะผิดหรือถูกก็ต้องตั้ง กฎหมายไม่ได้เขียนไว้เช่นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผมว่าควรจะทำหรือไม่ในสถานการณ์เช่นนี้ สื่อก็ต้องช่วยผมด้วย ยืนยันว่าผมไม่ได้รังเกียจใคร หรือพระสงฆ์รูปใด เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผมทั้งสิ้น แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะศาสนาพุทธในประเทศไทย จำเป็นต้องยุติเรื่องนี้ให้ได้ เราเข้าข้างใครไม่ได้ ต้องว่ากันตรงกลาง เราจะมีวิจารณญาณอย่างไร และไม่ใช่ผมจะตัดสินใจคนเดียว ถ้าเป็นเรื่องอำนาจอย่างเดียวนั้นถือว่าใช่แต่ในข้อเท็จจริงจะต้องฟังหลายหลายส่วนไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้จำนวนมากทำไม ก็เป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกเดี๋ยวก็จะกล่าวหาว่าไปแกล้งกันอีก ผมจะแกล้งได้อย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาขณะนี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามีมาก โดยเฉพาะเรื่องของพระธัมมชโยอยู่ที่ขณะนี้มีการเรียกร้องให้ใช้กฎหมายมาตรา 44 เข้าไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ใช้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงมาตรการสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนหลังเกิดคดีฆ่าข่มขืนบ่อยในช่วงเวลานี้ว่า ตนได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมและฝ่ายกฎหมายว่าจะทำอย่างไร ทุกอย่างเราต้องแก้ไขปัญหาจากต้นทางคือต้องไปดูเรื่องจิตสำนึก การเรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร รวมถึงสังคม สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนแปลง อะไรต่างๆ เข้าถึงได้ง่าย บางครั้งโลกส่วนตัวก็เยอะ การใช้โซเชียลมีเดีย ไอซีทีสามารถเข้าถึงได้ทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ทุกอัน จะไปปลูกฝังความมีคุณธรรมหรือไม่มีคุณธรรมก็ได้ จึงต้องแก้ตั้งแต่ต้นทางและกลางทาง ซึ่งกลางทางคือกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ทุกอย่างถูกต้อง และต้องไม่ทำให้เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นอีก รวมถึงปลายทางด้วย

“มาตรการทางกฎหมายมีการลงโทษที่รุนแรงอยู่แล้วคือการประหารชีวิต มีทั้งข่มขืนธรรมดาและข่มขืนแล้วฆ่า คดีอุกฉกรรจ์มีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าให้ไปพิจารณาดูในเรื่องการประกันตัวและเรื่องการลดโทษ จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ถ้าสังคมยังเป็นอยู่แบบนี้ก็จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าอยู่ที่การเรียนรู้ เราจึงต้องพัฒนาความคิดคน คิดว่าเราจะทำอย่างไรกันดี หลายคนเห็นว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้เน้นเรื่องนี้ จะเน้นการใช้กฎหมายแรงๆ ก็คงไม่พอ ก็คงต้องทำคู่ขนานกันไป ตนเห็นใจและเสียใจแทนพ่อแม่เขาด้วย ตนต้องรับผิดชอบเขา ตนเสียใจไม่เท่าพ่อแม่ด้วยซ้ำ เราไม่อยากให้ใครบาดเจ็บสูญเสียระหว่างที่ตนอยู่สักคน ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบต่อสังคม เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ ฝ่ายกฎหมายกำลังดูอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับการขอพระราชทานบรรเทาโทษ มันควรจะต้องเท่าไหร่ ไม่ใช่ลดลงไปเรื่อยๆ ลดหลายครั้งเดี๋ยวเขาก็ออกมา ไปดูตรงนั้นจะได้ไม่ผิดกติกาสากลด้วย เพราะเราต้องอยู่กับโลกด้วย ตนเห็นใจและกำลังปรับปรุงอยู่ เดี๋ยวกระทรวงยุติธรรมกำลังอยู่ไม่ใช่ไม่ได้ทำอะไรเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น