xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ขอให้ฟังศาลวินิจฉัย แจงด้วยเหตุผลต้องให้ความเป็นธรรม บี้แก้ กม.จัดซื้อฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
ทีม กม.ปชป. ขอทุกฝ่ายยอมรับคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้ ม. 61 วรรคสอง ไม่ขัด รธน. ย้ำ กกต.- คสช. ต้องให้ความเป็นธรรมคนที่บอกรับไม่รับพร้อมเหตุผล รับเรื่องดีมีเฟซบุ๊กแจงถึง รธน. แนะยืดเวลาลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต มองพีอาร์ยังอ่อน ชี้ ผลมาจากไม่ให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วม ย้ำ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เอื้อทุจริต เหตุไม่ต้องเผยราคากลาง จี้แก้ไข พร้อมเฝ้าติดตาม

วันนี้ (3 ก.ค.) นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำประชามติที่จะถึงนี้ว่า เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน ก็จะถึงวันลงประชามติ ซึ่งที่ผ่านมา มีการโจมตีว่าศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นการตีความเพื่อเอื้อประโยชน์ในการทำประชามติครั้งนี้ แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ทุกฝ่ายควรยอมรับคำตัดสินดังกล่าว ซึ่งตนเห็นว่า ในตัวคำวินิจฉัยไม่เป็นอุปสรรคการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยในมาตรา 61 ได้ระบุว่า การเผยแพร่ข้อความภาพและเสียง หากไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ดังนั้น ใครก็ตามที่ออกมาบอกว่ารับไม่รับ โดยที่มีเหตุผลว่าชัดเจนว่ามาตรานี้ดีอย่างไรหรือไม่ดีอย่างไร ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ต้องให้เป็นธรรมกับพวกเขาในการแสดงความเห็น เพราะประชามติเป็นกลไกสำคัญในการสะท้อนความเห็นของประชาชน

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) พูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ นายราเมศ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ออกมาบอกข้อดีถึงสารสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่อีกฝ่ายก็ได้ชี้แจงความเห็นที่ต่างกัน สะท้อนให้เห็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสาร ก่อนการลงประชามติ ส่วนในกรณีที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตที่มีจำนวนน้อยมาก นายราเมศ กล่าวว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่รู้ และไม่มีข้อมูลครบถ้วยเกี่ยวกับการลงประชามติล่วงหน้า จึงอยากให้ กกต. ขยายเวลา ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตผ่านอินเทอร์เน็ต อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ถึงวันประชามติก็ยังอ่อน รวมถึงด้านเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ประชาชนไม่มีความกระตือรือร้นในการที่จะไปใช้สิทธิ ส่วนตัวตนคิดว่าการที่ทาง กกต. ไม่ได้ให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการช่วยประชาสัมพันธ์การลงประชามติ ก็อาจมีผลทำให้ประชาชนไม่มีการรับรู้ได้

นายราเมศ ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ว่า ที่ผ่านมา ทางพรรคประชาธิปัตย์และหลายฝ่ายได้ท้วงติงมาโดยตลอดว่าเนื้อหากฎหมายฉบับนี้อาจเปิดช่อง หรือเอื้อให้มีการทุจริต ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นำเข้าที่ประชุมล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาหลังไปพิจารณาเนื้อหาใหม่ แต่พบว่าไม่มีการแก้ไขรายละเอียดที่สำคัญ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ไร้ทุจริต โดยในมาตรา 7 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ระบุว่า ไม่บังคับใช้ กับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์โดยตรง รวมถึงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ซึ่งไม่ต้องเปิดเผยราคากลาง ซึ่งทำให้การจัดซื้อจัดจ้างอาจไม่โปร่งใส เป็นธรรม และทราบว่า ทางคณะกรรมาธิการจะพิจารณากฎหมายฉบับนี้อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) จึงอยากให้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ มุ่งประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ รวมถึงให้สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่มุ่งเน้นการเปิดข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงง่าย เพื่อการตรวจสอบการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีมาตราใดขัดกับหลักการนี้ก็ให้ตัดออก หรือปรับให้เข้ากัน โดยทางพรรคประชาธิปัตย์จะติดตามอย่างเรื่องนี้ใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น