xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยต้องรอคำพิพากษาศาลอังกฤษ ก่อนวางแผนดำเนินการต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกค่าเสียหายบริษัทตรวจจับวัตถุระเบิดเก๊ ผลสรุปต้องรอคำพิพากษาศาลอังกฤษ ก่อนวางแนวทางดำเนินการ ลุ้นหากฟ้องเป็นกลุ่มอาจมีผลถึงไทย เผยเคยขออัยการอังกฤษขอเป็นผู้เสียหายร่วมแต่เขาไม่เต็มใจ เพราะ กม.ไทยโทษถึงประหารชีวิต ส่วนคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช.คาดเสร็จกันยาฯ นี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาเรียกค่าเสียหายต่อ บริษัทจัดจำหน่ายเครื่องตรวจระเบิดปลอม จีที 200 หลังศาลประเทศอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์บริษัทผู้ผลิตว่า ในไทยมีการจัดซื้อ 3 ประเภท คือ จีที 200 อัลฟา 6 และเอดีอี 651 ทั้ง 3 ชนิดเป็นเครื่องมือเดียวกัน หรืออาจมีความแตกต่างอยู่เล็กน้อย โดยทั้งสามยี่ห้อมาจากบริษัทต่างกันแต่มีความเชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดผลต่อรูปคดี

ส่วนคดีที่เกิดขึ้นในศาลอังกฤษเป็นการซื้อเครื่องมือตรวจสอบวัตถุระเบิด เอดีอี 651 ทั้งนี้ การจัดซื้อของไทยมีตั้งแต่การซื้อตรงกับบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษ ซื้อผ่านตัวแทนบริษัทจำหน่ายที่อยู่ในประเทศไทย ขณะนี้มีข้อมูลแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะตนได้ให้ไปตรวจสอบเพิ่มอีก เนื่องจากมีส่วนราชการได้ซื้อเครืองตรวจสอบวัตถุระเบิด 17 แห่ง ประมาณ 1,400 เครื่อง มูลค่า 1.2 พันล้านบาท

นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ที่หารือกันมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ เรื่องความน่าสงสัยหรืออาจถึงขั้นทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง แบ่งออกเป็นเรื่องฮั้ว เรื่องการกำหนดราคากลาง เรื่องการซื้อในราคาสูงเกินสมควร และดำเนินการถูกตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ซึ่งหากผิดผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนอีกประเด็นคือ การหลอกลวง ฉ้อโกง แสดงข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นเท็จให้หลงเชื่อ จนได้ของไม่มีคุณภาพมาใช้ ซึ่งหากผิดตัวการหลักคือ เอกชนผู้จำหน่าย แต่ถ้าฝ่ายผู้ซื้อรู้อยู่แล้วว่าเขาหลอกและไปสมคบ เจ้าหน้าที่รัฐจะมีความผิดในฐานะตัวการร่วม

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงที่ได้พบจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คดีที่อังกฤษเริ่มจากคดีอาญาก่อน ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง เมื่อศาลตัดสินแล้วมีการดำเนินการฟ้องแพ่งต่อ จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะเข้าไปเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เพราะในที่สุดเราเป็นโจทก์ไม่ได้ และไม่ว่าประเทศใดก็เป็นโจทก์ไม่ได้ เนื่องจากอัยการเป็นผู้ฟ้อง เมื่อหลายปีมาแล้วเคยมีความพยายามของหน่วยงานไทยที่จะเข้าไปเป็นผู้เสียหายด้วย อย่างน้อยเอาชื่อของเราใส่เข้าไปในคำฟ้อง ไม่ใช่ไม่ได้ทำอย่างที่มีการพูดกัน ประกอบกับอังกฤษได้ติดต่อมาเพื่อต้องการทราบว่าบริษัทดังกล่าวได้ติดต่อมาเพื่อขอทราบว่าบริษัทจำหน่ายได้นำเครื่องมาขายให้ไทยหรือไม่ และสามารถใช้งานได้หรือไม่ เพราะการจะไปพูดในศาลอังกฤษว่าใครทำผิดต้องพิสูจน์ว่าได้นำเครื่องไปขายที่ใดบ้าง แล้วมีที่ใดใช้ไม่ได้ เราได้ให้ข้อมูลไปว่าเครื่องใช้ไม่ได้ ทั้งยังบอกไปอีกว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราอยากขอเป็นฝ่ายผู้เสียหายในเรื่องนี้ด้วย แต่บังเอิญการกระทำความผิดตามกฎหมายไทยมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ทางอัยการอังกฤษจึงลังเลมีปฏิกิริยาไม่เต็มใจจะดำเนินการในส่วนนี้ ทำให้ปัญหาคาราคาซังอยู่

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในฝ่ายของไทยได้ดำเนินการไปแล้วหลายอย่าง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเรื่องที่เกี่ยวข้องไว้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2555 กว่า 10 คดี และมีการส่งให้อัยการส่งฟ้องทั้งหมดแล้ว แต่อัยการยังไม่ได้ฟ้องด้วยเหตุผลทางกฎหมาย อยากให้ดีเอสไอไปดำเนินการสอบต่อบางประเด็นซึ่งอัยการเห็นว่ามี 1 คดีที่ควรแยกออกมาเพื่อฟ้องเป็นคดีแพ่งไปก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับอายุความ โดยศาลได้ตัดสินแล้วให้รัฐเป็นฝ่ายชนะ สัญญาเป็นโมฆะ ซึ่งเมื่อเป็นโมฆะต้องมีการกลับคืนทรัพย์มูลค่า 9 ล้านบาท แต่ขณะนี้มีแนวโน้มว่าเขาไม่มีเงินจะคืน

ส่วนคดีในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีกว่า 10 คดี จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2559 ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลที่เราได้ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยได้คำพิพากษาของศาลอังกฤษ แต่ทราบว่าได้ขอไปแล้ว โดยผนึกกำลังร่วมกันของหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ อัยการ โดยอาจให้อัยการฝ่ายไทยประสานขอกับทางอัยการอังกฤษ หรืออาจจะไปขอคำพิพากษากับประเทศผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อได้มาจะนำมาตีความว่าคำพิพากษาหมายความว่าอย่างไร จะนำไปสู่การดำเนินการอะไรบ้าง ได้ให้อัยการสูงสุด (อสส.) เตรียมการรับในส่วนนี้ไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแล้วแนวโน้มคงยากใช่หรือไม่ที่จะเข้าสู่กระบวนการ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ขอตอบอะไรทั้งสิ้น เพราะขึ้นอยู่กับอะไรหลายอย่าง ทั้งอายุความ รูปคดี จึงต้องฟังฝ่ายกฎหมาย อัยการ ดีเอสไอ ที่กำลังดูเรื่องนี้กันอยู่ ซึ่งคดีนี้ที่ศาลอังกฤษตัดสิน คือ เครื่องเอดีอี 651 แต่ของเราคือ จีที 200 กับอัลฟา 6 จะเชื่อมโยงกันได้หรือไม่ และคำพิพากษาของศาลอังกฤษไม่สามารถนำมาใช้ได้กับศาลไทย ต้องตั้งต้นฟ้องกันใหม่ แต่การนำสืบก็ดำเนินการนำฟ้องที่ศาลอังกฤษตัดสิน ไม่ใช่เรื่องยากลำบาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราต้องคิดทุกอย่างประกอบกัน ทั้งค่าทนาย ระยะเวลา หากเกิดกรณีต้องไปขอเฉลี่ยทรัพย์ และยังต้องคิดด้วยว่าเมื่อชนะแล้วเราจะได้อะไร ถ้าคิดว่าทั้งหมดมันสมควรก็จะดำเนินการ แต่ถ้าคิดว่าไม่สมควรที่จะดำเนินการก็แล้วไป ขณะนี้กำลังปรึกษากับฝ่ายกฎหมายต่างประเทศอยู่

ต่อข้อถามว่า หากจะดำเนินการฟ้องร้องกับผู้เกี่ยวข้องในไทย ใครจะเป็นจำเลยบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ที่ฟ้องเรื่องอะไร ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะบางบริษัทที่มาขายเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย แต่บางบริษัทเป็นตัวจริงในประเทศอังกฤษ จึงให้ไปตรวจสอบอะไรบางอย่างตามที่มีการอ้างว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร

“ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครเขาฟ้องกันแล้วชนะ เราไปขอแบ่งตังค์บ้างดีกว่า คงไม่ใช่ เจ้าหนี้ที่อังกฤษฟ้องลูกหนี้แล้วชนะ 100 ล้าน เรานึกว่าลูกหนี้ติดหนี้เราอยู่เลยไปเอาบ้างดีกว่ามันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพียงแต่ในต่างประเทศมันมีการฟ้องร้องชนิดหนึ่งซึ่งเราเพิ่งแก้ไขกฎหมายที่เรียกว่า Class Action หรือการฟ้องร้องเป็นกลุ่ม คือ ฟ้องเพียงคนเดียวแต่ได้อานิสงส์เป็นกลุ่ม แต่เราไม่รู้ว่าคดีที่ศาลอังกฤษเป็นการฟ้องร้องเป็นกลุ่มหรือไม่ จึงต้องรอดูคำพิพากษาและคำฟ้อง ถ้าฟ้องร้องเป็นกลุ่มอาจจะมีผลมาถึงเรา”


กำลังโหลดความคิดเห็น