xs
xsm
sm
md
lg

กสม.รับข้อเสนอพิจารณายกเลิก “โทษประหารชีวิต” แต่ต้องถามกระแสสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้รับข้อเสนอแนะยกเลิกโทษประหารชีวิตจากการประชุมยูพีอาร์ที่สวิสกลับมาพิจารณา ระบุจะเป็นไปได้หรือไม่ กระแสสังคมมีส่วนสำคัญ และต้องใช้เวลาปรับทัศนคติ เตรียมกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ราชทัณฑ์ รวมทั้งการสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้คนในสังคม

วันนี้ (23 พ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกเอกสารข่าว ระบุว่า ในการประชุมคณะทำงานงานเพื่อพิจารณารายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (ยูพีอาร์) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้รับข้อเสนอแนะของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตกลับมาพิจารณา ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ของรัฐบาล

โดย กสม.เห็นว่า โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษผู้กระทำผิดที่มีกำหนดโทษสูงสุดของสังคมมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ในอดีตเป็นการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อแก้แค้นทดแทนต่อผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ รวมทั้งเพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้งและการตัดโอกาสในการกระทำความผิด เพื่อเป็นการตอบสนองต่อรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นธรรมในสังคม แต่ในปัจจุบันวัตถุประสงค์ของการลงโทษได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระความทำผิดเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ ทุกครั้งที่มีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้น สังคมไทยมักจะถกเถียงกันว่าควรจะมีโทษประหารชีวิตหรือไม่ ซึ่งการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเป็นไปได้หรือไม่ กระแสสังคมมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจ

หากสังคมเห็นว่า ความผิดเกิดจากการกระทำ ควรหยุดที่การกระทำนั้น ไม่ใช่หยุดชีวิตของผู้กระทำความผิด (End Crime, Not Life) การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็คงทำได้ไม่ยาก แต่หากความกังวลในความปลอดภัยของชีวิตมีความสำคัญมากกว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งการยกเลิกโทษประหารชีวิตต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติของผู้คนในสังคม และเตรียมความพร้อมทั้งทางกฎหมาย การบริหารกระบวนการยุติธรรม และระบบราชทัณฑ์ รวมทั้งระบบที่จะสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้คนในสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น