xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิต และการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแอมเนสตี้
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิต และการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2558 ชี้ตัวเลขการประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ สถิติสูงสุดในรอบกว่า 25 ปี โดย 3 ประเทศที่ประหารชีวิตมากที่สุด คือ อิหร่าน ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ แนวโน้มประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างกำลังหันหลังให้แก่โทษประหารชีวิต ปัจจุบันมี 140 ประเทศ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติแล้ว โดยที่ 102 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท
 
รายงานระบุว่า ปี 2558 เป็นปีที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด นับตั้งแต่มีการบันทึกจากปี 2532  โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตมากกว่า 1,634 คน ใน 25 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 54% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมตัวเลขจากประเทศจีน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นความลับของทางราชการ แต่จีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดในโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่า มีผู้ถูกประหารชีวิต และถูกสั่งลงโทษประหารชีวิตหลายพันคนในปี 2558 แม้จะมีสัญญาณว่าจำนวนการประหารชีวิตในจีนลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลโทษประหารชีวิตเป็นความลับ ทำให้ไม่สามารถยืนยันข้อมูลที่แท้จริงได้
 
ภาพจากแอมเนสตี้
 
ประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุด 5 อันดับแรกของโลกในปี 2558 ได้แก่ จีน อิหร่าน ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ
 
แต่ยังมี 4 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายของตนอย่างถาวรในปี 2558 ได้แก่ ฟิจิ มาดากัสการ์ สาธารณรัฐคองโก และซูรินาเม ส่วนมองโกเลียผ่านร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2559
 
แม้จะมีความถดถอยในปี 2558 แต่ทั่วโลกยังคงเดินทางไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลก 102 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท ถ้านับรวมกันแล้วประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติรวมเป็นจำนวน 140 ประเทศ หรือ 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก
 
ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า โชคดีที่ประเทศซึ่งประหารชีวิตประชาชนยังคงเป็นประเทศส่วนน้อย และมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกหันหลังให้แก่โทษประหารชีวิตแล้ว
 
“ไม่ว่าความถดถอยระยะสั้นจะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มระยะยาวยังคงชัดเจนว่า ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหารชีวิต ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตจึงต้องตระหนักว่า พวกเขาอยู่ในด้านที่ผิดของประวัติศาสตร์ และควรยกเลิกการลงโทษที่โหดร้าย และไร้มนุษยธรรมมากสุดนี้เสียที” 
 
ภาพจากแอมเนสตี้
 
สำหรับประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมี และใช้โทษประหารชีวิตอยู่
 
ในส่วนของประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ที่ไม่มีการประหารชีวิต ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติ จะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม
 


   

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น