xs
xsm
sm
md
lg

แอมเนสตีเผยสถิติ “ประหารชีวิต” เพิ่มขึ้น 50% ในปี 2015 สูงสุดในรอบกว่า 25 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ตลอดปี 2015 มีนักโทษที่ถูกประหารชีวิตทั่วโลกอย่างน้อย 1,634 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 50% และนับว่าสูงที่สุดตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) เผยในรายงานวันนี้ (6 เม.ย.)

รายงานประจำปีของเอไอว่าด้วยการตัดสินประหารชีวิตและการประหารนักโทษทั่วโลก ชี้ว่า สถิติที่เพิ่มสูงขึ้นนี้มีตัวแปรสำคัญจากการประหารชีวิตนักโทษในอิหร่าน ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย

ตัวเลข 1,634 รายนี้ยังไม่รวมข้อมูลในจีน ซึ่งเชื่อว่าได้มีการประหารชีวิตพลเมืองไปหลายพันคน

รัฐบาลจีนถือว่าการประหารชีวิตนักโทษเป็นความลับราชการ เช่นเดียวกับในเวียดนาม และเบลารุส

สถิติการประหารชีวิตนักโทษในปี 2015 เท่าที่มีบันทึกไว้ เพิ่มขึ้นถึง 54% จากตัวเลข 1,061 คนในปี 2014 โดย 89% เป็นนักโทษที่ถูกประหารชีวิตในอิหร่าน ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย

หลังมีนโยบายพักโทษประหารชั่วคราว 6 ปี รัฐบาลปากีสถานได้ตัดสินใจนำบทลงโทษขั้นสูงสุดกลับมาใช้ใหม่ หลังกลุ่มติดอาวุธตอลิบานได้ก่อเหตุสังหารหมู่ครูและนักเรียนภายในโรงเรียนของกองทัพที่เมืองเปชวาร์ เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2014

ตลอดปี 2015 มีนักโทษที่ถูกทางการอิสลามาบัดประหารชีวิตไปทั้งสิ้น 326 ราย ขณะที่ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตคนไป 158 ราย

อิหร่านประหารนักโทษไปอย่างน้อย 977 คน ซึ่งเอไอชี้ว่าเป็นภาพที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับนโยบายเปิดประตูสู่ตะวันตก หลังจากมีการทำข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์กับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส บวกเยอรมนี

“รัฐบาลตะวันตกต่างตบเท้าเข้าไปผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับอิหร่าน... ทั้งที่ปัญหาสิทธิมนุษยชนยังถูกมองข้าม” เจมส์ ลีนช์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของเอไอ ระบุ

ลีนช์ เผยด้วยว่า ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา นักโทษที่ทางการซาอุฯ ประหารชีวิตครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่พูดภาษาอาหรับไม่ได้ และไม่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทุกประเภท

ฟิจิ มาดากัสการ์ สาธารณรัฐคองโก และซูรินาเม ได้ยกเลิกโทษประหารในปี 2015 ทำให้ทั่วโลกมีชาติที่ปลอดโทษประหารรวมทั้งสิ้น 102 ประเทศ

ในส่วนของจีนก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่า การประหารชีวิตได้ลดน้อยลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติที่ยืนยันได้

ในปี 2015 มีการประหารชีวิตนักโทษเกิดขึ้นใน 25 ประเทศ ซึ่งวิธีการที่ใช้ก็ได้แก่ การตัดศีรษะ, แขวนคอ, ฉีดสารพิษ และยิงเป้า

เอไอ ระบุว่า มีนักโทษ 4 รายในอิหร่าน และอย่างน้อย 5 รายในปากีสถาน ที่ถูกประหารชีวิตเพราะความผิดอาญาที่กระทำตอนอายุไม่ถึง 18 ปี

หากมองในภาพรวมทั่วโลก ความผิดอาญาที่นำมาสู่โทษประหารชีวิตมีอยู่มากมาย เช่น การฆาตกรรม, ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด, การทุจริตประพฤติมิชอบ, การใช้อาวุธปล้นทรัพย์, การคบชู้, การกระทำชำเราอย่างรุนแรง, การข่มขืน, การละทิ้งศาสนา (apostasy), การลักพาตัว และการดูหมิ่นศาสดาของอิสลาม เป็นต้น

นอกจากนี้ การกระทำที่เข้าข่ายเป็นกบฏ (treason) เช่น การบั่นทอนความมั่นคงของชาติ, การสมคบคิดกับองค์กรต่างชาติ, การจารกรรมข้อมูล, การตั้งคำถามกับนโยบายของผู้นำ และการร่วมก่อจลาจล ก็เป็นเหตุให้ถูกลงโทษประหารชีวิตด้วย

ทางการสหรัฐฯ ได้ประหารนักโทษรวมทั้งสิ้น 28 รายในปี 2015


กำลังโหลดความคิดเห็น