แมงกะพรุนกล่อง (Chironex fleckeri, box jellyfish) กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ผู้คนให้ความสนใจ และพูดถึงมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ หลังจากเกิดเหตุกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวไทย ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเข้าที่แขนและขาขณะลงเล่นน้ำทะเลที่ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เราจึงควรจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องแมงกะพรุนกล่อง ว่ามันคืออะไร มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน และสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อป้องกันตัวเอง
• รู้จักแมงกะพรุนกล่อง
แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลอินโดจีนและเอเซียแปซิฟิก พบมากที่สุดทางด้านเหนือของทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทั้งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยฤดูที่แมงกะพรุนกล่องเข้าใกล้ชายฝั่ง จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในออสเตรเลีย ความเสี่ยงจะสูงสุดช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม
แมงกะพรุนชนิดนี้มีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นในน้ำได้ยาก ลำตัวของมัน (bell) เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกล่อง ขนาดโตเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16-24 ซม. มีหนวด (tentacles) ที่มุมทั้งสี่จำนวน 15 หนวดต่อมุม ขณะว่ายน้ำหนวดจะหดตัว ทำให้มีความยาวเพียง 15 ซม. แต่ขณะล่าเหยื่อหนวดจะยืดยาวได้ถึง 3 เมตร
แมงกะพรุนกล่องจะล่าปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยสามารถว่ายน้ำล่าเหยื่อด้วยความเร็วสูง ต่างจากแมงกะพรุนแท้ (scyphozoa) ที่จะลอยไปมารอให้เหยื่อมาสัมผัสเอง
• อันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง
เมื่อหนวดของแมงกะพรุนสัมผัสได้ถึงตัวกระตุ้นที่เป็นแรงกด ร่วมกับสารเคมีที่อยู่บนผิวของเหยื่อ จะฉีดสารพิษเข้าสู่ผิวของเหยื่อ เมื่อเหยื่อโดนพิษของแมงกะพรุนกล่อง จะมีอาการปวดแสบอย่างรุนแรงทันทีในบริเวณที่โดน
ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษจากแมงกะพรุนชนิดนี้มีความรุนแรงมาก หากบริเวณสัมผัสเกินร้อยละ 10 ของผิวหนังทั่วตัว อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 5 นาที หรืออาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 20 นาทีหลังจากการสัมผัสแมงกะพรุนกล่อง แต่หากเกิน 20 นาทีไปแล้วยังมีชีวิตอยู่ แสดงว่าอาการไม่รุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิต
ทั้งนี้ สารพิษจากแมงกะพรุนกล่องสามารถออกฤทธิ์ได้หลายรูปแบบ เช่น ทำให้ระบบหมุนเวียนของโลหิตและปอดล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผิวหนังแพ้หรือผิวหนังตายได้ จากสถิติในประเทศออสเตรเลีย พบผู้เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนดังกล่าวอย่างน้อย 63 ราย ในระหว่างปี ค.ศ. 1884-1996 และเด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด
• การป้องกัน
สำหรับการป้องกันอันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง ทำได้หลายวิธี เช่น ไม่ลงเล่นน้ำขณะที่มีแมงกะพรุน หรือเจ้าหน้าที่ชายหาดอาจจะติดตั้งตาข่ายสีแดงโอบล้อมทะเลและชายหาด เพื่อลดจำนวนแมงกะพรุน เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องไม่ชอบสีแดง และหากแมงกะพรุนไม่ได้สัมผัสกับผิวหนังของคนเรา ก็จะไม่มีการปล่อยสารพิษออกมา หรือหากเจอะเจอแมงกะพรุนกล่องลอยขึ้นมาติดบนชายหาด ก็ห้ามใช้มือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสเล่น เพราะอาจจะไปโดนหนวดแมงกะพรุน และได้รับสารพิษจนเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีการเล่นน้ำทะเลที่ดี คือ ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น ชุดดำน้ำ หรือเอาถุงน่องบางๆ ที่สุภาพสตรีใส่มาใส่ปิดบริเวณแขนขา จะสามารถป้องกันการปล่อยพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้
ในประเทศออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาด จะใส่ถุงน่องเพื่อป้องกันตัวเองจากแมงกะพรุนกล่อง นอกจากนี้ เมื่อไปเล่นน้ำทะเล ควรจะมีน้ำส้มสายชูติดตัวไปที่ชายหาดด้วยเผื่อกรณีฉุกเฉิน
• วิธีการรักษา
โดยส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องที่ผิวหนัง จะมีอาการเพียงเล็กน้อย (ขึ้นกับความกว้างของบริเวณที่โดนพิษ) แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ในเบื้องต้นหากโดนหนวดของแมงกะพรุ่นกล่อง อย่าแกะหรือขยี้ เนื่องจากหนวดยังสามารถปล่อยพิษต่อได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่ให้ใช้น้ำส้มสายชู (ความเข้มข้นของกรดอะซิติคอยู่ระหว่างร้อยละ 3-10) ชะล้างบริเวณที่หนวดเกาะอยู่และบริเวณรอบๆ เป็นเวลา 30 วินาที ค่อยแกะเอาหนวดออก โดยใช้ผ้าปัดออก แล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
หากโดนที่ตาให้ล้างด้วยน้ำเกลือ 0.9 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำเปล่า แล้วรีบไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจดูแผลและสังเกตอาการ หากมีอาการระบบหัวใจและปอดล้มเหลว จะต้องปฏิบัติการกู้ชีพโดยด่วน
การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการ ในประเทศออสเตรเลียได้มีการผลิตซีรั่มต้านพิษแมงกะพรุนกล่อง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้าซีรั่มดังกล่าว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่องยังมีไม่มากนัก ตลอดจนการใช้ซีรั่มจะต้องใช้โดยด่วนที่สุดตั้งแต่เริ่มโดนพิษใหม่ๆ จึงจะได้ผลดี และการใช้ซีรั่มสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะล้มเหลวของระบบหลอดเลือดและปอดยังไม่เป็นที่แน่ชัด นอกจากนี้ การใช้ซีรั่มอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย เนื่องจากผลิตจากซีรั่มของวัว
แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์อันตรายที่แทบมองไม่เห็นในน้ำ แต่การเตรียมตัวป้องกันอย่างดีก่อนลงเล่นน้ำในทะเล จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากการได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ www.dst.or.th
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย)