MGR Online - ดีเอสไอระบุขายผลจับ “แก๊งสแกมเมอร์” หลอกรักผ่านเฟซบุ๊ก-ไลน์ ตุ๋นเหยื่อสาวไทยโอนเงินได้ 11 รายส่งอัยการฟ้อง ขอหมายจับเพิ่มในคดีนี้อีก 15 ราย ประสาน ตร.มาเลย์ล่าหลังทราบที่กบดาน เสียหายกว่า 50 ล้านบาท เตือน ปชช.-นักธุรกิจระวังมิจฉาชีพปลอมอีเมลปลอมหลอกโอนเงิน พร้อมสรุปสำนวนคดี “แชร์ลูกโซ่ซื้อทองแดง-จำนำรถมือสอง” ส่งฟ้อง พบมูลค่าความเสียหายร่วม 100 ล้านบาท
วันนี้ (11 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 และนายนิธิต ภูริคุปต์ ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ร่วมกันแถลงผลการดำเนินการคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วยการหลอกหลวงทางสื่อสังคมออนไลน์
นายนิธิตกล่าวว่า สืบเนื่องจากสำนักคดีเทคโนโลยีฯ ได้ดำเนินคดีต่อเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกับกลุ่มคนไทยหลอกลวงเหยื่อผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบสแกมเมอร์ มีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนจำนวนมากจึงดำเนินการสืบสวนจนทราบว่ามีกลุ่มผู้ต้องหา ประกอบด้วย ชาวต่างชาติ 4 ราย เป็นชาวไนจีเรีย 3 ราย และอินเดีย 1 ราย และคนไทยอีก 26 ราย ร่วมกันหลอกลวงเหยื่อชาวไทยที่เป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้งทางเฟซบุ๊ก และไลน์ กระทั่งเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ขยายผลนำตัวผู้ต้องหาอีก 11 คน พร้อมสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 67/2556 ส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา
นายนิธิตกล่าวต่อว่า รูปแบบที่ผู้ต้องหาใช้ในการหลอกลวงเหยื่อนั้นเป็นรูปแบบเดิมที่ใช้เมื่อ 4-5 ปีก่อน ด้วยการสร้างโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติผิวขาวหน้าตาดี มีหน้าที่การงานดี โดยพูดจาหว่านล้อมในเชิงเอาอกเอาใจ เพื่อหลอกให้เหยื่อตายใจและโอนเงินให้ คดีนี้มีผู้เสียหาย 7 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 19 ล้านบาท และจากการสืบสวนทราบว่าบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 40-70 ปี และพบว่ามีบัญชีที่ใช้ในการหลอกลวงให้โอนเงินไม่น้อยกว่า 30 บัญชี มีเงินหมุนเวียนกว่า 50 ล้านบาท ขณะนี้ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้แล้ว 15 คน และจะได้ประสานไปยังทางการประเทศมาเลเซียเพื่อติดตามผู้ต้องหาต่อไป เนื่องจากทราบว่าผู้ต้องหาที่เป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย และใช้ประเทศมาเลเซียเป็นแหล่งอาศัยในการติดต่อกับผู้เสียหาย
นายนิธิตกล่าวอีกว่า ดีเอสไอขอแจ้งเตือนไปยังประชาชนอีกเรื่อ งคือ เนื่องจากขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพชาวต่างชาติร่วมกับคนไทยปลอมอีเมลหลอกให้คู่ค้าโอนเงินชำระค่าสินค้าไปยังบัญชีธนาคารของคนร้าย โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมหลาย 10 ล้านบาท เหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศซึ่งใช้วิธีการติดต่อซื้อขายสินค้าผ่านทางอีเมลแล้วโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าผ่านทางบัญชีธนาคาร
นายนิธิตกล่าวด้วยว่า จากการสืบสวนพบว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดมีทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย โดยใช้วิธีการส่งอีเมลสวมรอยเป็นบริษัทจากประเทศไทยส่งไปหาคู่ค้าต่างประเทศ โดยคนร้ายจะตั้งชื่ออีเมลใหม่ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ในบางรายต่างกันเพียงแค่ตัวอักษรเดียว หรือใช้จุด หรือสัญลักษณ์คั่นกลาง เพื่อให้ดูคล้ายกัน หากไม่สังเกตก็จะหลงกล ซึ่งอาจเกิดจากการเจาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าไปถึงข้อมูลการติดต่อทางการค้า หลังจากที่เหยื่อหลงกลคนร้ายจะเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างเหยื่อกับคู่ค้า เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในการดำเนินธุรกิจ รอส่งมอบสินค้าและการรับเงิน จากนั้นคนร้ายจะแจ้งเปลี่ยนบัญชีให้โอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีของธนาคารอื่น หรือนิติบุคคลอื่น การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในการค้าระหว่างประเทศของไทย ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก
นายนิธิตกล่าวว่า จากการสืบสวนยังพบว่า คนร้ายใช้หนังสือเดินทางปลอมประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 15 เล่ม เปิดบัญชีธนาคารไทยหลายธนาคารไม่น้อยกว่า 20 บัญชี บางรายใช้ชื่อนิติบุคคลในการเปิดบัญชี ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 10 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท ดังนั้น ดีเอสไอจึงขอแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการและประชาชนให้ระมัดระวังในการติดต่อธุรกิจทางอีเมล ทั้งนี้ สามารถป้องกันภัยดังกล่าว คือ 1. ตรวจสอบชื่ออีเมลให้รอบคอบก่อนทำการซื้อขาย 2. อย่าใช้วิธีการตอบอีเมลกลับ โดยการรีพายให้พิมพ์ชื่อโดยเลือกจากบัญชีรายชื่อ 3. ยืนยันช่องทางชำระเงินมากกว่า 1 ช่องทาง 4. แยกอีเมลส่วนตัวและงานออกจากกัน และ 5. ตรวจสอบถังขยะในอีเมล์และแสกนไวรัสสม่ำเสมอ
อีกคดี พ.ต.ท.พเยาว์แถลงผลการดำเนินการคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับความผิดแชร์ลูกโซ่ ว่า สำหรับสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ได้ส่งสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีพิเศษแล้ว 2 คดี คือ 1. คดีพิเศษที่ 51/2557 กรณีกลุ่มบุคคลหลอกลวงให้ประชาชนซื้อขายทองแดงเพื่อนำไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวอ้างว่ามีบริษัทของตนได้รับสัมปทานซื้อทองแดงจากหน่วยงานของรัฐ และนำทองแดงไปหลอมก่อนส่งขายต่างประเทศ โดยจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 100 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายเงินปันผลทุก 3 เดือน ซึ่งผลการสอบสวนพบว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีจริง รวมถึงโรงหล่อในการหลอมทองแดงก็ไม่มีด้วย ทั้งนี้ คดีดังกล่าว มีผู้เสียหายประมาณ 200 คน ทั้งในกรุงเทพฯ จ.นครราชสีมา ชลบุรี และ จ.เลย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท
พ.ต.ท.พเยาว์กล่าวต่อว่า คณะพนักงานสอบสวนจึงออกหมายจับผู้กระทำความผิดรายสำคัญในขบวนการดังกล่าว 2 ราย คือ น.ส.ดารา ภาษี และ น.ส.จำปา ภาษี โดยแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องอีก 6 ราย ในความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ส่วนคดีพิเศษที่ 52/2557 เป็นการหลอกลวงให้ลงทุนธุรกิจเต้นท์รถให้ซื้อขายรถยนต์มือสองและรับจำนำรถโดยให้กำไรสูง ผลการสอบสวนพบว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีจริง มีผู้เสียหายกว่า 100 ราย อยู่ในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องและส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษแล้ว
ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยาเปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินงานของดีเอสไอที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ การป้องกันนั้นในปัจจุบันเราได้ทำการศึกษาแนวโน้มในคดีแชร์ลูกโซ่ที่เพิ่มขึ้นว่ามีกลไกอย่างไรบ้าง จึงจะตัดวงจรของกลไกเหล่านี้ได้ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก คือ 1. บริษัทหรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการในลักษณะหลอกลวง 2. กลุ่มแม่ทีม และ 3. กลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งแนวทางการป้องกันนั้น เราจะเร่งจัดทำทะเบียนแฟ้มประวัติของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแม่ทีม เพราะจากการศึกษาาพบว่ากระบวนการแชร์ลูกโซ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย กลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดมีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกันและมีจำนวนไม่มากที่จะดำเนินการลักษณะแบบนี้ ซึ่งกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นแม่ทีมนั้น จะทำหน้าที่ให้เกือบทุกเครือข่าย นอกจากนี้จะเน้นการให้ความรู้ และรณรงค์ให้กับกลุ่มคนนี้ได้ทราบว่าบทบาทที่ตัวเองกำลังทำอยู่เข้าข่ายกฎหมายอย่างไร โดยเราจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เป็นภาคีกับเราด้วย