อุบลราชธานี - กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สอบสมาชิกโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์และโครงการอื่นๆ ที่ผิดกฎหมายของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษ ที่ 138/2558 โดยพบมีการระดมเงินจากสมาชิกทั่วประเทศนับแสนคนไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท โดยหลังสงกรานต์เสนออายัดทรัพย์ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องนับร้อยล้านบาท และดำเนินคดี 2 ข้อหาหนักภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลนครอุบลราชธานี นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ และเป็นผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 นำคณะพนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้เสียหาย ซึ่งถูกหลอกลวงให้สมัครเป็นสมาชิกโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์และโครงการอื่นๆที่ผิดกฏหมายของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 138/2558 ไว้แล้ว
โดยวันนี้ได้ให้ผู้เสียหายที่สมัครเข้าร่วมเป็นผู้อำนวยการระดับจังหวัด และสมาชิกทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงให้ปากคำรวมว่า 40 ราย จากผู้เสียหายที่เข้าให้ปากคำไว้ก่อนหน้านี้กว่า 200 ราย โดยผู้เสียหายที่เป็นผู้อำนวยการระดับจังหวัด ต้องเสียค่าสมัครเข้าเป็นสมาชิกคนละ 21,000 บาท จึงมีสิทธิ์หาสมาชิกเข้าร่วมอีกคนละ 1,500 บาท โดยจะได้รับเงินค่าหาสมาชิกรายละ 300 บาท
ส่วนผู้เป็นสมาชิกหลังเข้าร่วมต้องจ่ายเงินสมทบเป็นรายเดือนอีกเดือนละ 300 บาท เมื่อเสียชีวิตก็จะได้รับเงินค่าฌาปนกิจรายละ1,000,000 บาท โดยในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี มีประชาชนถูกชักชวนหลอกรวมให้เข้าร่วมกับโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ รวมถึงโครงการออมทรัพย์อื่นๆ กว่า 3,000 ราย คิดเป็นมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท
นายปิยะศิริกล่าวว่า จากการติดตามสอบสวนสมาชิกที่ถูกหลอกและให้ปากคำต่อดีเอสไอทั่วประเทศกว่า 600 ปาก พบว่าเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ไม่ได้รับเงินตามที่มีการโฆษณาหลอกลวงไว้ โดยสมาชิกแต่ละรายได้รับเงินจริงเพียงไม่เกิน 10,000 บาท แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง มีการระดมเงินจากสมาชิกไปแล้วไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท จากสมาชิกที่มีอยู่ทั่วประเทศนับแสนคน จึงเข้าข่ายฐานความผิด ทำการระดมเงินอันเป็นการผิดพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และพระราชบัญญัติการฌาปนิกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2547 ซึ่งห้ามมิให้ชักชวนหรือชี้ชวนให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด แล้วดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องภายในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ ตั้งแต่หลังสงกรานต์เป็นต้นไป ดีเอสไอจะทำการอายัดบัญชีเงินฝาก รวมทั้งทรัพย์สิน ของผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากที่ได้เคยอายัดไว้ก่อนหน้านี้ เพราะหลังการติดตามเส้นทางการเงิน พบมีการโอนยักย้ายถ่ายเทตามสถาบันการเงินหลายแห่ง มีมูลค่ารวมกันนับร้อยล้านบาท เพื่อยึดคืนมาจ่ายชดใช้ให้แก่ประชาชนที่ถูกหลอกลวง จึงขอให้ประชาชนที่เคยหลงเชื่อหยุดจ่ายเงินสมทบให้แก่โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์และโครงการอื่นๆ ของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง เพื่อไม่ให้มีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก ส่วนประชาชนที่ต้องการเข้าร้องทุกข์สามารถติดต่อเข้าร่วมเป็นเจ้าทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตลอดเวลา
ขณะที่นางวัลภา วรรณวัติ อายุ 60 ปี ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า เข้าร่วมเป็นผู้อำนวยการจังหวัดโครงการแชร์ฌาปนกิจสงเคราะห์และโครงการอื่นๆของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมืองเมื่อปี 2557 เพราะเชื่อมั่นเป็นโครงการที่เชื่อถือได้ เพราะมีการนำผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมากล่าวอ้าง รวมทั้งมีการนำตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานบางแห่ง มาทำเป็นโลโก้ทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้นจึงมีการระดมหาสมาชิกเข้าร่วม แต่ต่อมาภายหลังเริ่มพบความผิดปกติ เพราะเมื่อมีสมาชิกเสียชีวิตจ่ายเงินค่าฌาปนกิจไม่ตรงกับที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ โดยสูงสุดได้ไม่ถึง 100,000 บาท ล่าสุดเมื่อต้นปีได้รับเพียงรายละไม่เกิน 7,000-8,000 บาท จึงตัดสินใจนำสมาชิกเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนดีเอสไอในวันนี้
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับพนักงานสอบสวนสอบชุดนี้ นอกจากมาสอบปากคำผู้เสียหายกรณีโครงการแชร์ฌาปนกิจสงเคราะห์และโครงการอื่นๆ ของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมืองแล้ว ในวันที่ 6 เมษายนจะเดินทางไปรับคำร้องทุกข์คดีแชร์ลูกโซ่ทองคำพีกาซัสของบริษัท พีเอ็มบี เพกาซัส (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษด้วย