xs
xsm
sm
md
lg

DSI จับมือ สนง.ตำรวจพม่าหารือทวิภาคีบูรณาการทำงานป้องกันปราบปราม “ค้ามนุษย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจพม่า ร่วมประชุมทวิภาคีว่าด้วยความร่วมมือป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 14 ที่เชียงใหม่ เน้นบูรณาการการทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูล หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานคดีค้ามนุษย์และป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (14 มิ.ย. 59) ที่โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วย พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฎัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์, พ.ต.อ.ธัน แนง รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (Pol.Col.Htun Naing Deputy Head of ATIPD (MPF) พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ร่วมกันประชุมทวิภาคีครั้งที่ 14 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่องจากการประชุมทวิภาคีครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือกรอบความร่วมมือในการดำเนินคดีของ 2 ประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่จากโครงการออสเตรเลีย-เอเชีย เพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ AAPTIP ประจำสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าและประเทศไทยเข้าร่วมรับฟังผลการประชุมในครั้งนี้ด้วย ในการที่จะก่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติรวมถึงคดีการค้ามนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่าเองต่างมีปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ส่วนวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ทั้งสองประเทศต้องหารือกัน ด้วยนำผลคดีต่างๆ ที่มีปัญหาในการทำงานในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างไทยกับพม่านำมาพูดคุยกันเป็นประเด็น เช่น ประเด็นการสืบพยานในชั้นศาล การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีคดีที่ทาง DSI ทำอยู่หลายคดีด้วยกัน โดยทางการพม่าได้ให้ความสำคัญเรื่องของการหลอกลวงแรงงานประมง เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานประมงถูกหลอกลวงค่อนข้างมาก นายจ้างใช้วิธีการหลายรูปแบบในการเข้าไปหลอกลวงแรงงาน และพบว่ามีวิธีการหลอกลวงแบบใหม่มาเรื่อยๆ

สำหรับสถิติการค้ามนุษย์นั้น ขณะนี้ลดลงมาก ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ คือ ส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดูแลเกือบ 1,000 คดี และส่วนที่สองคือ DSI ที่รับทำคดีอยู่ราว 10 คดี ซึ่งคดีที่ทาง DSI ทำนั้นจะเป็นลักษณะขององค์กรข้ามชาติ เช่น การหลอกลวงแรงงานไปทำงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องการค้าประเวณีในต่างประเทศ เพียงแต่ปัญหาในการดำเนินคดีเรื่องการค้ามนุษย์นั้นมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน เนื่องจากว่ากระบวนการสืบพยานในชั้นศาลใช้เวลานาน เป็นต้น ซึ่งจากความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศที่ดำเนินการอยู่นี้ ทั้งการทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูล คาดหวังว่าจะทำให้การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น