หวั่น “เขื่อนลาว” กระทบความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านเวียงแก่น ริมโขง ยื่น กสม.สอบข้อเท็จจริง “โครงการเขื่อนปากแบง” ที่ทางการลาวสร้างกั้นแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เฉียดชายแดนไทยไม่ถึง 80 กิโลเมตร เกรงสร้างปัญหาให้แก่ชุมชน
วันนี้ (29 มิ.ย.) มีรายงานว่า นายทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ตัวแทนชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้เข้า ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขง ที่แม้อยู่ในประเทศลาวแต่ใกล้ชายแดนไทยมาก
นายทองสุขเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลลาวอนุญาตให้บริษัทเอกชนเตรียมการก่อสร้างเขื่อนแห่งที่ 3 บนแม่น้ำโขง คือ โครงการเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ในแขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ห่างจากชายแดนไทยที่แก่งผาได บ้านห้วยลึก ประมาณ 80 กิโลเมตรตามลำน้ำ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองปากแบง 14 กิโลเมตร ทั้งนี้ ชาวบ้านห้วยลึกมีความกังวลว่าอย่างยิ่งว่าโครงการเขื่อนปากแบง อาจทำให้น้ำท่วมที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การหาปลา รายได้ และความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ส่งผลกระทบโดยตรงมาถึงชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงใน อ.เวียงแก่น และอ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยเฉพาะที่บ้านห้วยลึก หมู่บ้านตามลำน้ำสาขา รวมถึงหมู่บ้านอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย
“สิ่งที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุด คือ การใช้งานของเขื่อนทางตอนบนในจีน ซึ่งบ้านของเราจะอยู่ตรงกลางระหว่างเขื่อนจีนและเขื่อนปากแบง หากเขื่อนจีนระบายน้ำลงมาเป็นปริมาณมาก และลงมาเจอกับเขื่อนปากแบง จะมีการป้องกันปัญหาให้แก่ชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงกลางอย่างไร” ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าว
ด้านนายคำผาย บุญมี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก กล่าวเสริมว่า ตนเองก็หาปลาในแม่น้ำโขงทุกเช้า ส่วนใหญ่ชาวบ้านใช้วิธีการหาปลาคือไหลมอง นอกจากนั้นก็ใส่ไซ วางเบ็ด ช่วงนี้มีการไหลมองกันมาก แต่ปีนี้ปริมาณปลาที่จับได้น้อยมาก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาเขียม” คือแทบจะไม่มีแล้ว
“เมื่อวานผมไปหาปลาตั้งแต่สายจนค่ำ ได้มา 2 ตัว กิโลฯ เดียว เมื่อเช้าออกไปตีห้า ขึ้นมาแปดโมงไม่ได้เลย ออกไปหาปลาต้องจ่ายแน่ๆ คือน้ำมันสองลิตร เกือบร้อยบาท หากได้ปลาแค่กิโลเดียวไม่คุ้ม ชาวบ้านห้วยลึกครึ่งหมู่บ้านมีเรือ 40-50 ลำ ต่างมีอาชีพหาปลา ปลาเขียมแต่ราคาดี ชาวบ้านก็ยังอยากหา ปลาหนัง ขายราคากิโลละ 350 บาท ปลาเพี้ย ปลาเกล็ด กิโลกรัมละ 200 แต่หากเขื่อนบางแบงสร้างกั้นน้ำโขง น้ำนิ่งไม่ไหลตามธรรมชาติ หมดแน่ๆ การหาปลาของคนเวียงแก่น” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าว
ด้านนายจีรศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าจากหัวงานเขื่อนปากแบงมาถึงชายแดนไทย ระยะทางไม่ถึง 80 กิโลเมตร มีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมน้ำประมาณ 30 แห่ง ชาวบ้านบอกได้ยินว่า หากเขื่อนกักเก็บในระดับปกติ น้ำจะท่วมถึงปากทา (ปากแม่น้ำทาบรรจบแม่น้ำโขง)
“แต่ที่กลัวมากที่สุด คือ หากจีนปล่อยน้ำลงมาจากเขื่อน เชียงของเราอยู่ตรงกลาง คงลำบากแน่ๆ และได้รับข้อมูลว่าขณะนี้บริษัทได้เริ่มการก่อสร้างแล้ว แต่ยังไม่แจ้งอย่างเป็นทางการเท่านั้น” ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว
อนึ่ง โครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng Dam) มีกำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ได้รัฐสัญญาในการพัฒนาโครงการโดยบริษัท ต้าถัง (Datang) ของจีน และอาจรับซื้อไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่นเดียวกันกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนปากแบงอาจเป็นโครงการเขื่อนแห่งที่ 3 ที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนนล่างในลาว และตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่ประเทศไทยไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ลงนามร่วมกัน ลาวต้องแจ้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และนำโครงการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามระเบียบปฏิบัติ PNPCA