อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ จับคำพูด รมต. เป็นตุเป็นตะเอื้อกลุ่มทุนพลังงานหน้าเก่าฮุบกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม ภาวนารัฐบาล คสช. ปฏิรูปให้ถูกทาง เลิกใช้ตรรกะเก๊ๆ หลอก ปชช. กลัวค่าก๊าซค่าไฟพุ่ง เพื่อรีบประเคนสัมปทานให้กลุ่มทุนพลังงาน ยันมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติประเทศจะเป็นไทด้านพลังงาน ลดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “หยุดมัดมือชกประชาชน! หยุดออกกฎหมายให้เอกชนกินรวบปิโตรเลียมไทย?” ตามข้อความดังนี้
“สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง สัมปทานในทรัพยากรพลังงานที่เคยให้เอกชนไป เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้ว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดให้รวบรวมไว้เพื่อให้รัฐบาลทำเองในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
แต่สัมปทานปิโตรเลียมที่รัฐบาลปัจจุบันให้เอกชนไปใช้หาผลประโยชน์ถึง 50 ปีแล้ว กำลังจะหมดอายุสัมปทานเป็นไทแก่ตัวแล้ว เป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลควรนำกลับมาทำเอง บริหารเอง เป็นการหายใจด้วยจมูกของตัวเอง แต่รัฐบาลกลับอ้างว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีคน และไม่มีเงิน และจะแก้กฎหมายให้เกิดระบบสัมปทานจำแลง เพื่อต่อสัมปทานให้เอกชนต่อไปอีกใน 2 แหล่ง คือ เอราวัณ และ บงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565, 2566 ตามกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บัญญัติห้ามต่ออายุสัมปทานให้อีก นำมาสู่วาทะของรัฐมนตรีว่า “ระบบสัมปทานของเราก็เหมือนระบบแบ่งปันผลผลิต” และ “ระบบแบ่งปันผลผลิตก็คล้ายๆ กับระบบสัมปทานบ้านเรา!!”
รัฐมนตรีพลังงานที่มากล่าวชี้แจงร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ได้กล่าววาทะข้างต้นที่แสดงถึงการขาดความเข้าใจในหลักการที่เป็น “หัวใจ” ของระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต
สิ่งที่ต่างกันของ 2 ระบบ คือ เรื่อง “กรรมสิทธิ์” กล่าวคือ ในระบบสัมปทานนั้น กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์เป็นของประเทศการที่เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว รัฐบาลยอมใช้ระบบสัมปทานเพราะขณะนั้น คนไทยยังไม่มีความรู้เรื่องการดำเนินกิจการด้านปิโตรเลียม จึงยกกรรมสิทธิ์ให้เอกชนต่างชาติ โดยคาดว่า ภายใน 50 ปี คนไทยจะเรียนรู้จนสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเองในการบริหารกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำได้ด้วยตนเอง กฎหมายจึงบัญญัติไม่ให้ต่อสัมปทานอีกเมื่อครบกำหนดเวลาอายุสัมปทาน
รัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมสภาว่า ได้คุยกับประชาชนบางคน ท่านกล่าวไว้ลอยๆ เหมือนให้เข้าใจว่ามีการรับฟังประชาชนเกี่ยวกับเรื่องพลังงานไปแล้ว ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่เคยคุยกับท่าน และเคยถามท่านว่าเหตุใดก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซแอลพีจี ของเราจึงมีราคาสูงกว่าราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลก
ท่านตอบในทำนองว่า จะอ้างว่าเป็นของเราได้อย่างไร ก็เราให้สัมปทานเขาไปแล้ว ก็เป็นสิทธิของเขา เขาจะเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็เป็นเรื่องของเขา เอาเป็นว่า ผมจะให้เปิดเสรีให้นำเข้าก๊าซหุงต้มก็แล้วกัน ให้มาแข่งราคากัน จะได้ไม่ต้องไปยุ่งกับก๊าซของเขา
จากการพูดคุยกับท่านก็เห็นว่าท่านก็เข้าใจชัดเจนอยู่แล้วว่า การให้สัมปทานแก่เอกชน กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมก็เป็นของเอกชน การขาย หรือนำไปทำอะไร ก็เป็นสิทธิของเอกชน ในอดีตรัฐบาลจึงตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้นมา และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้รับสัมปทานต้องขายก๊าซให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อว่ารัฐบาลจะได้สามารถกำหนดราคาขายให้กับประชาชนไทย
หลังจากแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเป็นบริษัทเอกชนมหาชน การที่รัฐบาลยังถือหุ้นส่วนข้างมากคือ 51% ก็เพื่อจะได้ใช้อำนาจในการกำกับราคาขายปลีกให้กับประชาชน แต่ขณะนี้รัฐบาลก็ไม่ใช้อำนาจในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในการกำกับราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อประชาชนแต่ประการใด เมื่อพูดถึงรัฐที่ยังถือหุ้นใหญ่ 51% ในบริษัทพลังงาน รัฐมนตรีก็ตอบว่า ก็มีเอกชนถือหุ้นอยู่ 48%
การกล่าวอ้างว่า ถ้าตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติต้องใช้เงินถึงหมื่นล้านบาท เราไม่มีเงิน และเป็นภาระต่อประเทศ แต่การตั้งงบลับให้กระทรวงกลาโหมถึง5หมื่นล้านบาท หรือการใช้เงินเพื่อให้คนเข้าถึงแม่น้ำด้วยโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเฟสแรก 1.5 หมื่นล้านบาท ถ้าทำเต็มโครงการต้องใช้เงินถึง 3 หมื่นล้านบาท กลับดึงดันจะทำให้ได้
แต่การใช้เงินเพื่อหารายได้เข้าประเทศและสร้างความมั่นคงให้กับระะบบพลังงานของประเทศอย่างแท้จริงกลับเกี่ยงงอนว่าทำไม่ได้ อ้างว่าเป็นภาระ ทั้งที่มูลค่าปิโตรเลียมที่ได้จากแผ่นดินไทยปีละ 4-5 แสนล้านบาท หากลงทุนตั้งบรรษัทพลังงานด้วยงบเริ่มต้นเพียง 10% คือ 5 พันล้านบาท เพื่อบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำให้เป็นรายได้ของงบประมาณแผ่นดิน กลับอ้างว่าทำไม่ได้ ทั้งที่มีเงินที่เก็บจากประชาชนตรงๆ ไปอยู่ในในกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานในขณะนี้รวมกันมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท
บ้านเมืองจะก้าวหน้าได้อย่างไร หากผู้บริหารทำเป็นแต่ใช้เงิน และกู้เงิน แต่หาเงินไม่เป็น ถูกพวกกลุ่มทุนและคนแวดล้อมหน้าเก่าที่คอยสะกัด เพราะการหายใจด้วยจมูกของตัวเอง จะทำให้เราไม่ต้องยืมจมูกของเขาหายใจ นี่คือ สิ่งที่กลุ่มทุนพลังงานกลัวที่สุด เพราะจะไม่สามารถยืมมือรัฏฐาธิปัตย์มาเอาเปรียบประชาชนอย่างแนบเนียนแบบที่เป็นอยู่
ในวาระนี้เป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับรัฐบาล คสช. ที่จะปฏิรูปนโยบายพลังงานให้ถูกทิศถูกทาง หากมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารองรับระบบท่อก๊าซส่วนกลางที่ต้องคืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผนวกกับแหล่งปิโตรเลียมใหญ่ 2 แหล่ง คือ เอราวัณ และ บงกช ประเทศจะเป็นไทแก่ตัวเองด้านพลังงานและสามารถสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
โครงข่ายท่อก๊าซนั้นเปรียบประดุจโครงข่ายเส้นเลือดใหญ่ และแหล่งก๊าซก็คือเลือดที่หล่อเลี้ยงในระบบเศรษฐกิจของเรา ดังนั้น หากเราได้โครงข่ายท่อก๊าซกลับคืนมาบริหารเอง เราก็จะสามารถพึ่งตัวเองได้ด้วยเลือดของเราเองที่สูบฉีดหล่อเลี้ยงองคาพยพของประเทศให้แข่งขันในธุรกิจต่างๆ ได้ด้วยฐานต้นทุนพลังงานที่เป็นธรรม
ในอดีตเมื่อรัฐบาลตั้ง ปตท.สผ.ขึ้นมาเพื่อเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นนายวิเศษ จูภิบาล เคยกล่าวอย่างชัดเจนว่าการตั้ง ปตท.สผ.นั้น ก็เพื่อที่จะให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยี่การสำรวจขุดเจาะ เพื่อจะได้ทำเองเป็น ไม่ต้องพึ่งแต่ฝรั่ง
น่าเสียดายที่องค์กรเหล่านี้ล้วนถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนหมดแล้วโดยกลุ่มทุนสามานย์ที่แฝงเข้ามาในคราบนักการเมือง เพราะนักการเมืองอาชีพในอดีตแม้จะเลวร้ายแค่ไหนอย่างเก่งก็โกงกินจากเงินทอนในโครงการต่างๆ เท่านั้น แต่เมื่อกลุ่มทุนผูกขาดสมัยใหม่เข้ามาแผ่อิทธิพลในรัฏฐาธิปัตย์อย่างออกหน้าออกตามากขึ้น โดยมีนักการเมืองอาชีพและข้าราชการบางพวกเป็นลูกสมุน การคอร์รัปชันเชิงนโยบายจึงเกิดขึ้นอย่างมโหฬารในประเทศนี้ จึงจำเป็นที่เราต้องมีบรรษัทพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจมหาชนของรัฐเต็มร้อยดูแลบริหารกิจการปิโตรเลียมของประเทศดังที่เคยบริหารมาแล้วด้วยดีก่อนถูกแปรรูปแบบสายฟ้าแล็บโดยกลุ่มธุรกิจการเมือง
ความมั่นคงด้านพลังงานไม่สามารถปล่อยไว้ในมือของเอกชน ที่มุ่งแต่การหากำไรให้ผู้ถือหุ้นและโบนัสก้อนโตให้ผู้บริหารกับพนักงานบริษัท เพราะเมื่อราคาน้ำมัน และปิโตรเลียมลดต่ำลง บริษัทเอกชนเจ้าของสัมปทานเมื่อได้กำไรน้อยลง เขาก็พร้อมจะชะลอการผลิต หยุดการผลิต หยุดการจ้างงาน โดยไม่ได้สนใจว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ก๊าซหรือน้ำมัน ดังนั้น จะอ้างความมั่นคงจากระบบสัมปทานที่ให้แก่เอกชนนั้น ย่อมไม่สามารถกล่าวอ้างได้ เหมือนการที่เราบริหารจัดการปิโตรเลียมได้ด้วยตัวเองโดยระบบแบ่งปันผลผลิตที่กรรมสิทธิปิโตรเลียมเป็นของประเทศและเป็นของประชาชนทุกคนที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศไทย
การที่รัฐบาลจะรีบร้อนใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกำมะลอ ซึ่งเนื้อในคือสัมปทานจำแลงมาต่ออายุให้แก่เอกชนเจ้าของสัมปทานรายเดิมนั้น ด้วยข้ออ้างว่า ถ้าไม่รีบต่อให้ จะทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่อง จะขาดก๊าซมาผลิตไฟฟ้า อันที่จริงเอกชนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล เร่งเร้าให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเรื่องแหล่งก๊าซ2แหล่ง แท้ที่จริงเพราะเอกชนนั้นต้องการก๊าซอ่าวไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่างหาก ดังที่ท่านรัฐมนตรีก็รู้อยู่แก่ใจ บริษัทเอกชนนั้นต้องการก๊าซราคาถูกจากระบบสัมปทานเพื่อสร้างกำไรให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ส่วนที่กล่าวว่าจะนำก๊าซในอ่าวไทยมาใช้ในการผลิตไฟนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะคนกลุ่มนี้เคยพูดชัดเจนมาแล้วว่าการเอาก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) เป็นก๊าซที่มีคุณค่าเหมือนไม้สัก ที่สามารถนำไปแยกเป็นก๊าซแอลพีจี ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การเอาไปเป็นเชื้อเพลิงเผาในโรงไฟฟ้า เปรียบได้กับการเอาไม้สักไปเผาเป็นเชื้อเพลิง
ความต้องการที่แท้จริง คือ การได้แหล่งก๊าซเอราวัณ และบงกชไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยไม่ขาดช่วง และต้องการในรูปแบบสัมปทานแบบเดิมๆ เพราะคือการได้ไม้สักไปใช้ในราคาไม้ฉำฉานั่นเอง
แต่ประชาชนยังคงต้องใช้ก๊าซส่วนใหญ่ในการผลิตไฟฟ้าที่มีราคาแพงเหมือนเดิมจากก๊าซพม่า และก๊าซ LNG ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เป็นการได้ประโยชน์แบบ 2 เด้ง คือ บีบนวดให้รัฐบาลรีบอนุมัติการต่อสัมปทานเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนหน้าเดิม ในขณะที่ประชาชนได้ใช้ก๊าซนำเข้าในราคาแพงเหมือนเดิมต่อไป เพราะฉะนั้นจึงขอวิงวอนรัฐบาลให้เลิกใช้ตรรกะเก๊ๆ ข่มขู่ประชาชนว่าถ้าไม่รีบประเคนสัมปทานให้กลุ่มทุนรายเดิมราคาก๊าซหุงต้มจะแพงขึ้น ค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น แล้วหาเรื่องโยนความผิดให้กับกลุ่มประชาชนที่รณรงค์ให้เกิดความเป็นธรรมด้านพลังงานอย่างไม่ยุติธรรม
นี่เป็นวิธีของพวกกลุ่มทุนพลังงานหน้าเก่าที่แวดล้อมรัฐบาลทุกยุค ที่สมาชิก สนช. ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในที่ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ว่า ยากที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยแม้แต่ในยุค คสช. จะฝ่าออกมาได้ ที่ฝ่าออกมาไม่ได้ เพราะอะไร?!?
รัฐบาล คสช. หากไม่ฟังเสียงประชาชนก็ควรน้อมนำเอาพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ที่ทรงรับสั่งให้นำทรัพยากรพลังงานในพระราชอาณาจักร ที่หมดอายุสัมปทานไปแล้ว กลับมาให้รัฐบาลทำเอง และยังทรงย้ำอีกว่าหากใครจะมาขอสัมปทานอีก จงแจ้งให้ทราบว่าเป็นที่ที่รัฐบาลสงวนไว้ใช้ทำเอง
รัฐบาลจะเร่งรัดออกกฎหมายปิโตรเลียมไปเพื่ออะไร? ทั้งที่ สนช. สปท. ก็ออกเดินสายประกาศทั่วประเทศว่า เมื่อรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมี ส.ว.สรรหา จาก คสช. มากำกับดูแลยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศไทย 20 ปี ไว้รอไปทำเวทีปฏิรูปพลังงานก่อนออกกฎหมายหลังเลือกตั้งจะดีกว่าไหม
หากเล่นมัดมือชกออกกฎหมายปิโตรเลียมแบบนี้แล้ว ประชาชนจะรับรัฐธรรมนูญไปเพื่ออะไร??”