xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.แจงผู้นำชุมชน กทม.ย้ำ รธน.คุ้มครองสิทธิเต็มที่ แถมใส่ปฏิรูปไว้เป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” สัมมนาแจงร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้นำชุมชนใน กทม. ขออย่าชี้นำ ปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงความเป็นจริง ย้ำกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนเต็มที่ไม่น้อยกว่าเดิม อ้างระบบเลือกตั้งเพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย ชูครั้งแรกกำหนดปฏิรูปไว้ พร้อมตอบข้อซักถามรับหากพบการกระทำผิดกม.แจ้งกกต.ตรวจสอบได้

วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่หอประชุมภัทรมหาราช มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เมื่อเวลา 10.00 น. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดสัมมนา “การสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” เป็นวันที่ 2 โดยมีตัวแทนของผู้นำชุมชนในเขต กทม.เข้าร่วมกว่า 2,000 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 มาดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งในและนอกเครื่องแบบ จำนวน 250 นาย ทั้งนี้ การเปิดสัมมนาเริ่มต้นด้วยการฉายวีดิทัศน์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่ได้กล่าวเปิดการสัมมนาไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา

จากนั้นสมาชิก กรธ.ได้อธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้นำชุมชน เริ่มจากนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย สมาชิก กรธ.ที่ได้เน้นย้ำต่อผู้นำชุมชนว่าการอธิบายและการถ่ายทอดสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องไม่กล่าวคำเท็จที่บิดเบือนไปจากร่างรัฐธรรมนูญ หรือใช้คำหยาบคาย และสิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังอย่าไปชี้นำให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องตรงตามความเป็นจริงก็ไม่มีสิ่งใดที่น่ากังวล

ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท สมาชิก กรธ.กล่าวว่า บ้านเมืองเราต้องมีขื่อแป หากไม่มีประเทศชาติก็จะวุ่นวาย ดังนั้น รัฐธรรมนูญคือขื่อแปของบ้านเมืองซึ่งมีความสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางต่างๆ และขอย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ไม่น้อยกว่าของเดิมแน่นอน ส่วนระบบการเลือกตั้งก็มีการออกแบบเพื่อให้คะแนนเสียงของประชาชนทุกคนมีความหมาย ขณะที่การได้มาซึ่ง ส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีอาชีพใดก็มีสิทธิสมัครเป็น ส.ว.ได้ อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไว้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเดินหน้าและประชาชนมีความสงบสุข

จากนั้นช่วงบ่าย กรธ.ได้ตอบข้อซักถามของผู้นำชุมชนกทม.อาทิ กรณีการส่งข้อมูลหรือแชร์ข้อความที่เป็นเท็จในโลกโซเชียลมีเดีย เช่น การยกเลิกบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทอง สามารถดำเนินคดีหรือไปแจ้งความได้หรือไม่ โดยนายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. ชี้แจงว่า คนที่จะเอาผิดคือกกต.เพราะกรธ.ไม่ได้มีหน้าที่ดำเนินคดีกับใคร แต่ถ้าพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดก็แจ้งให้กกต.ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับประชาชนหากพบเห็นการกระทำสิ่งใดที่เข้าข่ายผิดกฎหมายก็สามารถแจ้งเรื่องไปให้กกต.ดำเนินการตรวจสอบได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมากรธ.ก็แจ้งให้กกต.ตรวจสอบ 2-3 ราย ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนจำไว้ว่าสิ่งที่ห้ามเด็ดขาด มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1.ห้ามพูดเท็จ 2.ห้ามใช้คำหยาบ 3.ห้ามพูดพาดพึงหรือบังคับผู้อื่น

ขณะเดียวกันมีการสอบถามว่าเหตุใดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่บัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. ชี้แจงว่า เหตุผลที่ไม่ได้กำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คือ ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและประเทศไทยโดยธรรมชาติคนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาอยู่แล้ว หากไปกำหนดชัดเจนอาจจะทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นเกิดความรู้สึกเลือกที่รักมักที่ชักหรือไม่ อีกทั้งทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีและมีศีลธรรมเหมือนกันหมด

นอกจากนี้มีคำถามที่น่าสนใจคือควรจะมีบทเฉพาะกาลห้ามส.ส.ที่เป็นต้นเหตุของการรัฐประหารและการก่อความวุ่นวายลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.รวมทั้งเหตุใดจึงไม่มีเขียนห้ามทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองและไม่ให้ทำรัฐประหารอีก โดยนายภัทระ ชี้แจงว่า การห้ามนักการเมืองลงสมัครส.ส.มันโหดเกินไป ส่วนการห้ามทหารนั้นถ้าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญตามที่เสนอแต่เมื่อถึงเวลาทำรัฐประหาร รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้งเท่ากับว่าก็กลับไปเหมือนเดิม

ช่วงท้ายของการจัดสัมมนามีการซักถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้แล้วจะมีอายุนานแค่ไหนและถ้าจะแก้ไขทำได้หรือไม่ นายชาติชาย กล่าวว่า แก้ไขได้ แต่มีอย่างเดียวที่แก้ไขไม่ได้ คือรูปแบบของรัฐ และการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


กำลังโหลดความคิดเห็น