xs
xsm
sm
md
lg

“สปสช.” เปิดเวทีโคราชประชาพิจารณ์หลักประกันสุขภาพ จี้แยกเงินเดือนพ้นเหมาจ่ายรายหัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต9 นครราชสีมา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ที่โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซสโคราช จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 10 มิ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “สปสช.” เขตนครชัยบุรินทร์ เปิดเวทีประชาพิจารณ์หลักประกันสุขภาพคนไทยที่โคราช เสนอบอร์ดพัฒนาระบบบัตรทอง 30 บาท ด้าน บอร์ด สปสช.ระบุการยกระดับการบริการสาธารณสุขยังมีปัญหา โดยเฉพาะการเหมาจ่ายรายหัวส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพบริการเหตุประชากรแต่ละพื้นที่ต่างกัน เสนอแยกค่าตอบแทน-เงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว คาด ส.ค.ทำประชาพิจารณ์ครบ 13 เขต สรุปปัญหาเข้าสู่ที่ประชุมระดับประเทศ

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 9 นครราชสีมา ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ มาตรา 18 (13) ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดย นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นฯ เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยาย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ของการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยมี ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ อปท. ผู้ทรงคุณวุฒิจาก จ.นครราชสีมา, ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ กว่า 100 คนเข้าร่วมเสนอความคิดเห็น

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช.กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข การกำหนดและปรับหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข เน้นการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทอง ซึ่งบอร์ด สปสช.ได้เปิดรับฟังความเห็นมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเปิดเบื้องต้นจะเปิดรับฟังความเห็นในระดับภูมิภาค จากนั้นรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดเพื่อนำสู่เวทีระดับประเทศในเดือนสิงหาคม

สำหรับปีนี้คณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้กำหนดเนื้อหาของการรับฟังความเห็นใน 7 ประเด็นตามข้อบังคับ ดังนี้ 1. ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข ได้แก่ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ ความครอบคลุมและการเข้าถึงบริการ และการร่วมจ่ายค่าบริการ 2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้แก่ มาตรฐานการให้บริการ มาตรการในการควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานหน่วยบริการ และการกำกับมาตรฐานหน่วยบริการ 3. ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน

4. ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ การบริหารจัดการรายบริการ (งบเหมาจ่ายรายหัว) และ Global Budget ระดับเขต 5. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ (กองทุน อบต., เทศบาล และ อบจ.) 6. ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนงบประมาณ และ 7. ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ ได้แก่ การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการและกรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการ รวมถึงการสื่อสารเพื่อการรับรู้และเข้าใจ

นพ.จรัลกล่าวว่า การจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนซึ่งเพิ่งผ่าน ครม.เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีการปรับเพิ่มจากเดิมหัวละ 2,900 บาท ซึ่งใช้อัตรานี้มานานถึง 3 ปี แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกในรอบ 3 ปีที่จะปรับเป็นหัวละกว่า 3,000 บาท เพื่อให้การบริการทางการแพทย์ดีขึ้น แต่ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากที่สุด คือ ประชากรแต่ละจังหวัดมีจำนวนไม่เท่ากัน แต่การจัดสรรงบประมาณยึดที่จำนวนรายหัวประชากรเป็นหลัก เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสานประชากรแต่ละพื้นที่แตกต่างกันมาก เมื่อจัดสรรงบลงไปแล้วบางพื้นที่ได้น้อยไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดี ได้มาตรฐาน หรือยารักษาดีๆ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน จึงเป็นปัญหาเรื่องคุณภาพการบริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เรื่องนี้จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขอีกครั้ง

ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ประเด็นร่วมในด้านสิทธิประโยชน์ที่ได้จากทุกจังหวัดในปีนี้คือ การรักษารากฟันเทียมโดยไม่จำกัดช่วงอายุ และการรักษาโรคนอนกรน และที่ยังเป็นประเด็นต่อเนื่องและเสนอเข้ามาทุกปี คือ เรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ อุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในกลุ่ม long term care + Palliative care เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เตียงลม เป็นต้น ส่วนในเรื่องของการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีการกล่าวถึงกันมาก คือ เสนอให้แยกค่าตอบแทน/เงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว และที่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา และอยากให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมคือ การให้ สปสช.เป็นผู้บริหารงบประมาณชดเชยค่าเสียหายผู้ให้บริการหากได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล เสนอให้แยกค่าตอบแทน/เงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ




กำลังโหลดความคิดเห็น