สปสช. เปิดประชาพิจารณ์ ปี 59 รุกพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รับฟังความเห็น 8 ประเด็น ทั้งด้านคุณภาพและมาตรฐานบริการ บริหารจัดการ การมีส่วนร่วม คุ้มครองสิทธิ์ และกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น จากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และประชาชนทุกภาคส่วน ระหว่าง พฤษภาคม - สิงหาคม 2559 นี้
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 18 (13) ได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เน้นการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข การกำหนดและปรับหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบอร์ด สปสช. ได้เปิดรับฟังความเห็นมาตั้งแต่ปี 2548 เบื้องต้นจะเปิดรับฟังความเห็นในระดับภูมิภาคก่อนดำเนินการรับฟังความเห็นระดับประเทศยังส่วนกลาง
ทั้งนี้ ในปี 2559 นี้ บอร์ด สปสช. ให้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นระดับเขตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศที่เป็นการรับฟังความเห็นทั่วไป, เวทีรับฟังความเห็นผู้ให้บริการ - ผู้รับบริการ และเวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศ โดยกำหนดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2559 มีบางเขตเริ่มดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ให้บริการ ได้แก่ ผู้แทนหน่วยบริการทุกระดับ ทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ผู้รับบริการ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง
นพ.จรัล กล่าวว่า ในปีนี้ทางคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้กำหนดเนื้อหาของการรับฟังความเห็นใน 8 ประเด็น ดังนี้ 1. ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข ได้แก่ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ ความครอบคลุมและการเข้าถึงบริการ และการร่วมจ่ายค่าบริการ 2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้แก่ มาตรฐานการให้บริการ มาตรการในการควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานหน่วยบริการ และการกำกับมาตรฐานหน่วยบริการ 3. ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน 4. ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ก่ การบริการจัดการรายบริการ และ Global Budget ระดับเขต
5. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ ได้แก่ โครงสร้างคณะกรรมการ ระเบียบ ประกาศ การพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนงบประมาณ ระบบรายงาน การติดตามประเมินผล โดยท้องถิ่นเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการมีส่วนร่วมต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตลอดจนการบริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ 6. ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนงบประมาณ 7. ด้านการรับรรู้และคุ้มครองสิทธิ ได้แก่ การจ่ายเงินช่วยเหลือ ตาม ม.41, ม.18, ม.50 และการสื่อสารเพื่อการรับรู้และเข้าใจ และ 8.ประเด็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ของ สปสช. เขต
“ผลสรุปที่ได้จากการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ นี้ จะนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้ายหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองทั้งผู้ให้และผู้รับบริการอย่างสอดคล้องกัน” นพ.จรัล กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่