ปธ.กมธ.สธ.สนช.โพสต์เฟซบุ๊ก หลังหารือคดีน้องหมิวร่วมผู้พิพากษา อัยการ สธ. แพทยสภา เห็นร่วมถอนคดีทางการแพทย์ออกจากคดีผู้บริโภค ต้องมีกองทุนชดเชยผู้เสียหาย เว้นแทรกซ้อนจากพยาธิสภาพโรค จากเงินเยียวยา ม.41 ห้ามเก็บจากแพทย์ จี้ สธ.พัฒนาระบบไกล่เกลี่ย เข้าถึงผู้เสียหายก่อนเอ็นจีโอ ชงบรรจุความรู้ทางการแพทย์ทุกหลักสูตรผู้พิพากษา
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงคดีของ ด.ญ.กนกพร ทินนึ่ง หรือน้องหมิว ผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้ชนะคดี โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชดใช้ 2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7.5% นับจากวันที่ฟ้อง ว่า กมธ.สาธารณสุข สนช.ได้มีการหารือเกี่ยวกับคดีน้องหมิว โดยได้เชิญเลขาธิการศาลยุติธรรม โฆษก (ผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์) และผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศ และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา มาหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหาเชิงระบบทั้งการลดคดีขึ้นสู่ศาล และแนวทางในการต่อสู้ในชั้นศาล
ในการหารือสรุปว่าต้องมีเงินกองทุนชดเชยผู้เสียหาย แต่ต้องคงหลักการที่จะไม่จ่ายในกรณีโรคแทรกซ้อนเกิดตามพยาธิสภาพโรค เงินนี้อาจมาจาก มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2541 หรือมาจากเงินงบประมาณ แต่ไม่ใช่เรียกเก็บจากแพทย์ ขณะเดียวกัน อาจจะให้แพทยสภายกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องร้อง และทำประชาพิจารณ์ต่อไป กระบวนการไกล่เกลี่ยมีความสำคัญ และมีความจำเป็นสำหรับ รพ.ทุกแห่ง สธ.ดำเนินการมานานแล้ว จำเป็นที่จะต้องเพิ่มศักยภาพของทีมงาน เข้าถึงญาติผู้ป่วยก่อนเอ็นจีโอ หรือทนายความด้วยความรวดเร็ว
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว จะเป็นเวทีต่อสู้ของนักกฎหมาย และทนายความ โดยอาศัยแพทย์เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งขึ้นทะเบียนต่อศาลไว้ ในขณะนี้มีจำนวน 71 คน จาก 20 สาขา (ลดจากรอบ 1 ที่มีจำนวน 134 คน) ซึ่งศาลจะถือว่าเป็นพยานซึ่งเป็นกลาง และน่าเชื่อถือ มากกว่าพยานจาก สธ.หรือแพทยสภาซึ่งศาลจะถือว่าเป็นพวกเดียวกันกับจำเลย (ที่ถูกฟ้อง) แต่จำเลย (สธ.หรือแพทย์ที่ถูกฟ้อง) อาจอ้างหรือขอผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยต่างๆ มาเบิกความช่วยได้
ประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักคือ ศาลให้ความเห็นว่าเมื่อเป็นคดีระหว่างโจทก์ ซึ่งได้แก่ชาวบ้านที่ยากจนเป็นส่วนใหญ่สู้คดีกับ สธ.หรือแพทย์ที่มีฐานะทางสังคมที่ดีกว่า มีทนาย และอัยการซึ่งคอยช่วยเหลือ ผิดกับชาวบ้าน ศาลจะเห็นใจผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า การเรียกพยานเพิ่มเติมก็จะต้องพยายามให้เกิดความสมดุล โดยที่ศาลเชื่อว่า ส่วนใหญ่ถ้าไม่เหลืออด หรือไม่ถึงที่สุดแล้ว ชาวบ้านจะไม่อยากฟ้องแพทย์ คดีนี้มีปัญหาในการเตรียมพยานผู้เชี่ยวชาญ สธ.ควรนำความรู้ทางการแพทย์ไปบอกศาล และควรซักค้านทำลายความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์
การแก้ไขปัญหาในระยะยาว สำนักงานศาลยุติธรรม เตรียมบรรจุความรู้ทางการแพทย์ในหลักสูตรทุกชนิดของศาลที่ให้แก่ผู้ช่วยผู้พิพากษา หรือผู้พิพากษา ต่อไปจะขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญใหม่โดยขอตัวจากราชวิทยาลัย และจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยคดีทางการแพทย์ก่อนฟ้อง มีผู้พิพากษาที่เคยอยู่ สธ.มาช่วยงานในศูนย์เพื่อลดคดีที่ขึ้นสู่ศาลให้น้อยที่สุด
ที่ประชุมเห็นด้วยต่อการถอดคดีฟ้องร้องทางการแพทย์ออกจากคดีผู้บริโภคที่ถือว่าการรักษาทางการแพทย์เป็นการบริการ จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค โดยต้นเรื่องเริ่มจาก สธ.ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา และเสนอปลัดฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุขเพื่อส่ง ครม.และสภาต่อไป การแก้ไขปัญหาเหล่านี้แม้จะทำเพื่อแพทย์แต่ก็เพื่อให้ประโยชน์ตกกับผู้ป่วย หรือประชาชน แม้คดีฟ้องแพทย์ทั้งหมดที่ผ่านไปจะมีเพียงกว่า 400 คดี จากที่ศาลพิจารณาไป 1.5 ล้านคดี และแม้แพทย์จะแพ้ไปเพียง 44 จาก 400 คดี แต่ก็ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแพทย์ซึ่งปฏิบัติงานทุกคนในด้านขวัญกำลังใจ และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และประชาชนในท้ายที่สุด ตั้งแต่คดีร่อนพิบูลย์ มาจนถึงคดีนี้ แม้คดีนี้จะพิจารณาสอบถามพยานเพียงในศาลชั้นต้นในปี 2552 โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 แม้โจทก์จะฟ้อง สธ. โดยมีแพทย์ทั้ง 2 คนเป็นเพียงพยานของ สธ. และแม้แพทย์จะไม่ถูกฟ้องไล่เบี้ย เพราะไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ผลกระทบก็เกิดในวงกว้าง เป็นหน้าที่ของ สธ.ที่จะต้องเร่งเรียกขวัญ และกำลังใจของแพทย์กลับคืนมาโดยเร็ว และหาทางป้องกันปัญหาการฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่