ประธาน กกต.แจง ม.61 วรรคสอง ต้องพูดครบองค์ประกอบถึงผิด มองรับไม่รับเผยแพร่ได้แต่ห้ามบิดเบือน ติงทะเลาะกันชาติไม่ไปไหน ยันมีประชามติเหมือนเดิมแม้ศาลวินิจฉัยอย่างไร แต่ถ้าให้พูดหยาบได้ก็ไปว่ากันเอง รับไม่หนักใจ ความไม่สงบเรื่องของฝ่ายมั่นคง ยันเดินหน้าเตรียมการต่อ ย้ำเพลงรณรงค์ไม่ชี้นำหรือเหยียดคนภาคใด ขออย่าจับผิดเล็กๆ น้อยๆ
วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องพิจารณาว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 หรือไม่ว่า เฉพาะคำว่าหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง ก็จะไปยกตัวนี้มา ด้วยลักษณะของตัวนี้มันไม่ผิด แต่ต้องอ่านประกอบกันทั้งวรรค และการที่คุณเอาไปเผยแพร่ในลักษณะที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ก้าวร้าว รุนแรง เพื่อมุ่งไปสู่การปลุกระดม จะต้องครบองค์ประกอบนี้ไม่ใช่คุณพูดแล้วไม่มีการปลุกระดม มันก็ไม่ใช่ ส่วนการแสดงความคิดเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่อย่างไรก็ว่าไม่ไป ทั้งนี้ สำหรับตนนั้นคำว่ารับหรือไม่รับก็สามารถที่จะเผยแพร่ความเห็นของเราได้ แต่จะต้องไม่บิดเบือน ไม่ชี้นำ ไม่ปลุกระดม เพราะเราต้องรู้ว่า ขณะนี้บ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ เราก็ต้องร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองเราเกิดความสงบ จะได้เดินไปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ แต่หากเรามัวทะเลาะกันประเทศชาติก็ไม่ไปไหน ผู้ชนะก็ชนะบนซากปรักหักพัง
เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ออกมา นายศุภชัยกล่าวว่า ก็ไม่เสียหายอะไร ส่วนงบประมาณที่ใช้ไปก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ยังดำเนินการต่อไป ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร จะไปขัดจะไม่ได้ลงประชามติมันไม่ใช่ ยังลงประชามติได้เหมือนเดิม และไม่มีการเลื่อนออกไป เพียงแต่ว่าเราก็ไม่ได้ใช้มาตรานี้ ส่วนกระบวนการต่างๆ ก็เดินไป
เมื่อถามว่า หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นในช่วงการใช้เสียงประชามติจะทำอย่างไร ประธาน กกต.กล่าวว่า เขาก็เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงและความขัดแย้งและเกิดการปะทะ ซึ่งหากมีความรุนแรงเกิดขึ้น การเลื่อนวันลงประชามติไม่ใช่อำนาจ กกต. แต่จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไร การออกเสียงประชามติก็ไม่จะกระทบ หากเขาบอกว่าหยาบคายได้ คุณก็ไปว่ากันเอง ส่วนเรื่องความไม่สงบก็เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง
เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ออกมา นายศุภชัยกล่าวว่า ไม่หนักใจอะไร เพราะปัญหามีให้แก้ก็แก้กันไป
เมื่อถามว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขอให้ กกต.ยุติการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และยุติการอบรมครู ก.และ ครู ข. นายศุภชัยกล่าวว่า จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาก่อนว่าหากยุติไป อาจจะดำเนินการไม่ทันวันออกเสียงประชามติ ขณะที่การวิจารณ์ถึงเนื้อหาเพลงรณรงค์ประชามติว่าเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้น จุดประสงค์ของเพลงดังกล่าวคือการเชิญชวนคนออกมาใข้สิทธิ ไม่มีเจตนาจะแบ่งแยกชี้นำ และมองว่าเป็นการจ้องจับผิดของคนบางกลุ่มมากกว่า
นายศุภชัยยังกล่าวว่า ขณะนี้ในทุกขั้นตอนของการเตรียมการออกเสียงประชามติมีความพร้อม เพราะผู้บริหารและพนักงานของ กกต.มีความเป็นมืออาชีพ จึงไม่น่ากังวลอะไร โดย กกต.จะควบคุมการออกเสียงให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ส่วนกรณีเพลง 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ที่ถูกระบุว่ามีเนื้อหาดูหมิ่นคนภาคอีสาน และภาคเหนือนั้น ผู้ประพันธ์เพลงได้เก็บข้อมูลไปจาก กกต. โดยอ้างอิงจากคำขวัญที่ กกต.นำไปบรรจุไว้เป็นหน้าสุดท้ายของเอกสารบุ๊กเล็ตร่างรัฐธรรมนูญที่ กกต.จะแจกจ่ายให้แก่ 17 ล้านครัวเรือน ซึ่งระบุว่า “เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ยอมให้ใครชี้นำ ตัดสินใจอย่างอิสระ เพื่อประชามติเที่ยงธรรม” แล้วนำไปแต่งเป็นเนื้อเพลง ขอย้ำว่าเนื้อเพลงดังกล่าวไม่มีการชี้นำหรือเหยียดคนภาคใดภาคหนึ่งตามที่มีการกล่าวหา จึงขอร้องอย่านำประเด็นเล็กประเด็นน้อยมาจับผิดกระบวนการการทำประชามติ เพราะเป้าหมายเราต้องการให้ประชาชนออกใช้สิทธิโดยไม่มีการชี้นำ ทุกคนมีเสรีภาพ ออกมาแสดงความคิดเห็นได้ภายใต้กรอบกฎหมาย
ทั้งนี้ นายศุภชัยยังกล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวมีการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะบิดเบือนว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจะมีการยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดข้อเท็จจริง จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้ และข้อเท็จจริงผู้ที่จะชี้ถูกผิดก็คือศาลยุติธรรม