xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ย้ำมีประชามติแน่ ขัด รธน.ก็ตัดเป็นคำ ชี้ “บิ๊กตู่” บอกเลื่อนแค่มองข้ามช็อต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยผู้ตรวจฯ ชงศาลศาลรัฐธรรมนูญตีความ ม.61 วรรคสอง เหตุติดใจ 3 คำ คือ ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย เหตุคลุมเครือ ชี้ไม่ถูกก็ตัดออกเป็นคำๆ ไม่ต้องแก้ที่ สนช. ย้ำไม่กระทบประชามติ 7 ส.ค.แน่ ศาลตัดสินขัด รธน.หลังประชามติผ่านก็ไม่มีผล แจงนายกฯ บอกอาจเลื่อนประชามติ เหตุหวั่นตัด 3 คำออกแล้วเกิดเหตุรุนแรง แจง กรธ.ของบฯ เพิ่มครู ค.ต้องจัดสรรจากงบฯ รวมประชามติ ไม่ใช่ขอเพิ่ม รบ.

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หรือไม่ว่า มาตราดังกล่าวกำหนดการกระทำไว้ 6 อย่างที่มีความผิด ประกอบด้วย นำเสนอข้อมูลเป็นเท็จ ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม และข่มขู่ โดยสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลพิจารณา เนื่องจากติดใจ 3 คำ คือ ก้าวร้าว รุนแรง และหยาบคายแปลว่าอะไร คลุมเครือหรือทำให้คนไม่เข้าใจจนอาจปฏิบัติตามไม่ถูก

“หากศาลวินิจฉัยว่าทั้ง 3 คำ หรือคำใดคำหนึ่งในนั้นไม่ถูกต้องจะต้องตัดออกไปเฉพาะคำคำนั้นเท่านั้น ไม่ต้องไปแก้ไขในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วน 3 คำที่เหลือ คือ ข้อมูลเป็นเท็จ ปลุกระดม และข่มขู่ก็ยังอยู่ ไม่กระทบใดๆ ต่อ พ.ร.บ.ทั้งฉบับ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทั้ง 3 คำไม่ขัดถือว่าจบ ดังนั้น ยืนยันไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรจะไม่กระทบต่อการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.” นายวิษณุกล่าว และว่า ในระหว่างที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย 3 คำที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลพิจารณาจะยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่เมื่อรู้อยู่แล้วว่ามีการไปร้องศาลในประเด็นนี้ ถ้ายังจะไปจับข้อหานี้อีกมันก็สุ่มเสี่ยงไปหน่อย แต่ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยได้ยินว่ามีการตั้งข้อหานี้กับใคร มีแต่ปลุกระดมเคยเห็น อย่างใส่เสื้ออะไรต่างๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาภายหลังว่าขัดรัฐธรรมนูญจะกระทบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีผลอะไร ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง จะเกี่ยวเฉพาะคนที่ถูกจับเข้าข่าย 3 คำดังกล่าว แต่ไม่กระทบภาพรวมทั้งหมด ต่อให้ปลุกระดมก็ไม่กระทบ เพราะการทำประชามติต่างจากการเลือกตั้ง ถ้าเกิดการทุจริตอาจจะกระทบทั้งประเทศ แต่การทำประชามติต่อให้มีการทุจริตจะไม่กระทบทั้งประเทศ จะกระทบเฉพาะบางหน่วยเท่านั้น ให้ลงประชามติใหม่เฉพาะหน่วยที่มีปัญหา

เมื่อถามว่า มีข้อกังวลว่าการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลครั้งนี้ส่อเป็นการล้มประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ ไม่เกี่ยว แต่นายกฯปรารภด้วยความเป็นห่วงคือ กลัวคนจะไปคิดว่าถ้าเกิดศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญแล้วประชามติจะไม่มี และคนอาจคิดว่าลงมือทำอะไรได้หมด เพราะทั้งคำว่า รุนแรง ก้าวร้าว และหยาบคายมันไม่มีเสียแล้ว และพอถึงเวลาจะเบรกกันไม่อยู่แล้ว เพราะไม่รู้ว่าทั้ง 3 คำขอบเขตมันขนาดไหน จะทำให้เกิดชนวนความไม่สงบอย่างอื่นตามมา ตรงนั้นน่ากลัว จะกระทบต่อความสงบทั้งประเทศ แต่ภาวนาหวังให้ไม่ถึงขนาดนั้น ทุกคนระมัดระวังตัวเอง ความจริงมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ ระบุว่าอาจจะเลื่อนการทำประชามติออกไป รองนายกฯ กล่าวว่า ประเด็นของนายกฯ ท่านมองไปไกลอีก 5 ช็อต ลำพังถ้า 3 คำดังกล่าวใช้ไม่ได้นายกฯ ก็ทราบและเข้าใจว่าไม่มีปัญหา เพราะมีอีก 3 คำที่เหลือยังอยู่ แต่นายกฯ กังวลว่าถ้า 3 คำนั้นใช้ไม่ได้คนจะเข้าใจผิด ถึงขนาดยั่วโทสะจนออกมาปะทะกันจะกระทบต่อการทำประชามติทั้งหมด ดังนั้น ช็อตที่ 1 ถ้าศาลตัดสินว่า 3 คำนั้นใช้ไม่ได้ ช็อตต่อมาถ้าทุกคนนิ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่จับ รุนแรงได้ ก้าวร้าวได้ หยาบคายได้ แต่ถ้าหนักถึงขั้นเกิดไปกระทบใครจนหยุดไม่อยู่ ยกพวกออกมาตีกัน ทีนี้จะกระทบต่อประชามติแล้ว ซึ่งตอนที่เขาออก 3 คำนี้มาก็เพราะต้องการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แต่สมมุติถ้าศาลบอกไม่สามารถตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้ ก็ให้ระวัง เพราะเหตุการณ์มันจะไปถึงจุดนั้นได้ นายกฯ กลัวอย่างนั้น

เมื่อถามว่า หากมีการตัด 3 คำดังกล่าวจะมีกฎหมายใดมาบังคับใช้แทนหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ในทางตรงไม่มีกฎหมายที่ใช้แทนกัน แต่อยู่ที่จะไปปรับความผิดนั้นๆ ไปเข้ากับอันอื่น เพราะคนเราทำอะไรออกไปอาจจะเข้าองค์ประกอบความผิดมากกว่าหนึ่ง พ.ร.บ.ได้ ทั้งที่เป็นคำพูดเดียวกัน แล้วแต่ว่าเราจะมองในมิติอะไร ถ้ามองในมิติรุนแรง ก้าวร้าว และหยาบคายไม่ได้ ก็ไปมองในมิติอื่นเท่านั้น แต่มิติที่ดีที่สุดคือ คนอย่าไปทำให้มันมีเรื่อง ตนไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ไปทำอะไรทั้งนั้น ดังนั้น ประชาชนต้องระมัดระวัง ไม่ทำให้เกิดเรื่อง สุจริต ตรงไปตรงมา

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่ครู ค.เพื่ออธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญในระดับครัวเรือนว่า ทราบว่าทำเรื่องมาแล้ว แต่ตนยังไม่เห็น มีคนอธิบายให้ฟังว่าค่าตอบแทนทุกวันนี้มันน้อย และจากการตรวจสอบไปยังกระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก กกต.จำนวน 200 ล้านบาท จากงบประมาณรวม 2,991 ล้านบาทที่รัฐบาลจัดสรรให้ กกต. แต่ไม่เพียงพอจึงขอเพิ่มจาก กกต.ในส่วนของงบฯ 2,991 ล้านบาท ไม่ใช่เป็นการขอเพิ่มจากรัฐบาลอีก และเมื่อถึงเวลาคิดยอดค่าใช้จ่ายทำประชามติเป็นตัวเลขเท่าไหร่ ค่าตอบแทนครู ก. ครู ข.และครู ค.ต้องคิดจากรายวันที่ได้จ่ายไป ไม่ใช่เหมารวมเป็นเดือนๆ และที่ว่ามีการบิดเบือนค่าตอบแทน ครู ค.ได้วันละ 200 บาท น้อยกว่าครู ก. ครู ข. ต้องไปถามทาง กรธ.เอง


กำลังโหลดความคิดเห็น