สนช.เตรียมประชุมถกงบฯ ปี 2560 วงเงิน 2.7 ล้านล้านบาท 23 มิ.ย. ก.ศึกษาธิการได้มากสุด รองลงมามหาดไทย-คลัง จัดโครงสร้างตามแนวปฏิรูป 5 กลุ่ม พร้อมร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดรับ 6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นัดประชุม ในวันพุธที่ 23 มิ.ย.เวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาในวาระแรกขั้นรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ วงเงินงบประมาณจำนวน 2,733,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล มีวงเงินลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 43,000 ล้านบาท เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดเป็นรายจ่ายประจำ 2,103,422.2 ล้านบาท และเป็นรายจ่ายลงทุน 548,391 ล้านบาท ทั้งนี้ได้ประมาณการรายได้สุทธิจำนวน 2,343,000 ล้านบาท และกำหนดวงเกินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 390,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้ ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณที่มีการจัดกลุ่มเพื่อแสดงถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจนจึงได้ปรับปรุงโครงสร้างแยกออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. งบกลางจำนวน 340,918.6 ล้านบาท 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวงและหน่วยงาน 1,445,956.1 ล้านบาท 3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 437,899.8 ล้านบาท 4. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (ภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด) 264,343.7 ล้านบาท และ 5. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 243,881.8 ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณหากจำแนกตามกระทรวง ปรากฏว่ากระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบจำนวนมากสุดคือ อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 519,292,488,100 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19 อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย จำนวน 324,011,999,800 บาท หรือร้อยละ 11.8 อันดับ 3 กระทรวงการคลัง 218,633,124,100 บาท ร้อยละ 8 อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม 214,347,402,200 หรือร้อยละ 7.9 และอันดับ 5 กระทรวงคมนาคม จำนวน 152,726,416,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.6
นอกจากนี้ยังได้จัดทำกรอบยุทศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ทิศทางและกรอบยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558- 2564) แผนแม่บทระดับชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพในทุกมิติ และประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน ด้านการจัดการน้ำและการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐและรายการค่าดำเนินการภาครัฐ