xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ชี้แดงตั้งศูนย์ฯ ส่อจัดกิจกรรมการเมือง เผยสอบธรรมกายไม่ได้มุ่งแค่ “ธัมมชโย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษก คสช.แถลงแดงตั้งศูนย์ปราบโกงส่อเข้าข่ายจัดกิจกรรมการเมือง เตือน พท.ระวังแสดงความเห็นต้องอยู่ในกรอบ กม. ให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง ฝ่าย กม.เกาะติด สั่งประชาสัมพันธ์ ปชช.ร่วมเคลื่อนไหวเสี่ยงเจอคดี ชี้คดี “ธัมมชโย” ดำเนินการตามขั้นตอน มีเบี่ยงประเด็นทำสับสน ยันบุกธรรมกายไม่ล้มเหลว ถอยเพื่อหาวิธีที่เหมาะสม แถมได้ข้อมูลเพิ่มเรื่องมวลชน ย้ำไม่ได้พุ่งเป้าแค่คนเดียว

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยืนยันจะเดินหน้าตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ส่วน คสช.ดูภาพรวมทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย อะไรที่ไม่ชัดเจน หรือมีผลทำให้สังคมเข้าใจผิด หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ต้องเข้าไปดูแล และต้องใช้ดุลพินิจว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนจะสามารถตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติได้หรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามแนวทางผู้บังคับบัญชา เพราะขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลว่าตั้งได้หรือไม่ได้ แต่ในมุมของเจ้าหน้าที่จะพิจารณาดูว่าการรวมกลุ่ม และร่วมทำกิจกรรมมีรูปแบบองค์ประกอบเข้าข่ายการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในนามธรรมในการใช้คำพูดการสื่อสาร เราไม่ได้มองแค่การใช้ชื่อ คงต้องดูองค์ประกอบและพฤติกรรมร่วมด้วย

เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับแกนนำพรรคเพื่อไทย 17 คนที่ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและการทำงานของ คสช.ว่า กลุ่มคนที่ให้ความเห็นมีสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เป็นเพียงความเห็นที่ไม่เหนือความคาดหมายที่สังคมคาดเดาได้ ควรระวังเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ต้องมีข้อเท็จจริง พิสูจน์ได้ ซึ่งทาง กกต.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการแสดงความเห็นมากระทบต่อการทำงานของ คสช.และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรนั้น ต้องดูว่าเข้าข่ายกฎหมายใด อาจจะเป็นกฎหมายประชามติ หรือกฎหมายความมั่นคงที่มีเจตนารมณ์ในเรื่องการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ยืนยันว่าการแสดงความเห็นสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

ด้าน พ.อ.ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ระบุถึงความพยายามตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติฯ ของกลุ่ม นปช.ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลมาก่อน การดำเนินการใดๆ ก็ต้องระมัดระวัง และเป็นบุคคลที่เคยลงนามกับ คสช.ไว้ตามคำสั่งที่ 39/57 หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อาจขัดต่อกฎหมาย โดยในส่วนของ คสช.ได้ให้ฝ่ายกฎหมาย ติดตามการตั้งศูนย์ฯ ของ นปช.อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้มีนัยสำคัญซึ่ง คสช.ได้ลงพื้นที่ชี้แจงการทำประชามติอย่างต่อเนื่อง และได้ย้ำกับประชาชนว่าการดูแลปัญหาทุจริตประชามติมี กกต.ดูแลอยู่แล้ว ทั้งนี้ กกต.ได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจฯ หน่วยทหารในพื้นที่ ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่างเข้าไปร่วมเคลื่อนไหว หรือตกเป็นเครื่องมือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะหากมีการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีและก็จะถูกทอดทิ้ง

ขณะที่ พ.อ.วินธัย และ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวถึงคดีความของพระธัมมชโยว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีทางสังคมปกติทั่วไป แต่ละส่วนก็ยังคงดำเนินการในขบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ที่เป็นหลักสากล ไม่ได้ใช้มาตรการใดๆ ที่นอกเหนือไปจากกรอบกติกาที่ดำเนินการอยู่ อาจมีข้อสงสัยและไม่เข้าใจในบางส่วนที่ติดตามสถานการณ์มากว่า 1 เดือน โดยมีการอ้างในเรื่องของสุขภาพ อาการเจ็บป่วย ของพระธัมมชโย จึงอาจเป็นข้อข้องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ในการปฏิบัติตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ล่าสุดมีการเบี่ยงเบนประเด็นในเรื่องการขาดหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของกระบวนการยุติธรรม ตรงนี้อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนในเหตุผลในข้อจำกัดที่อ้างถึง

พ.อ.วินธัยกล่าวถึงการที่ศิษย์วัดธรรมการออกมาระบุถึงพระธัมมชโยจะมามอบตัวก็ต่อเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยว่า จริงแล้วทุกคนทราบดีอยู่ว่าข้ออ้าง หรือข้อจำกัดอยู่ที่อาการป่วยของพระธัมมชโย ตรงนี้เองสังคมก็ติดตามมาตลอด แต่เหตุผลที่บอกว่าต้องรอให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยนั้น สังคมก็ต้องร่วมกันพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย ทาง คสช.เองก็เฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่

ด้าน พ.อ.ปิยพงษ์เปิดเผยว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในการบุกเข้าไปภายในวัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาไม่ได้ล้มเหลว เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มกำลังภายใต้สถานการณ์ที่มีข้อจำกัด ล่อแหลมที่จะเกิดความรุนแรง ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าหากดำเนินการต่อไปจะเกิดผลกระทบอย่างไร หากเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปจับโดยมุ่งไปที่ตัวผู้ต้องหาคือพระธัมมชโยเพียงคนเดียวแล้วเกิดความรุนแรง ภาพที่ออกมาก็จะเกิดข้อครหาต่อสาธารณชน และสังคมโลกว่าเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปในสถานที่ปฏิบัติธรรม มีคนนุ่งขาวห่มขาวเต็มไปหมด ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ถอยก็เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมต่อไป ส่วนที่บอกว่าจะมอบตัวเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์นั้นเป็นการเปิดเผยตันตนว่าอิงอยู่กับการเมืองฝ่ายใด และเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถทำตามได้ คงต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย

“แม้จะไม่ได้ตัวผู้ต้องหา แต่เราได้ข้อมูลจากสิ่งที่เห็น ทั้งเรื่องสถานที่ตั้ง พื้นที่ด้านในบางส่วน ภาพกลุ่มแกนนำ นอกจากนั้นยังพบข้อมูลว่ามีพระมาจากภาคใต้ มวลชนจากภาคอีสานที่เดินทางเข้ามา 2 วันก่อนที่เจ้าหน้าที่เข้าไป แน่นอนว่ามวลชนเหล่านี้คือผู้ที่นับถือวัดพระธรรมกาย แต่เราก็ต้องดูว่ามีใครบ้างเป็นแกนนำ อีกทั้งดูว่าคนจำนวนมากขนาดนั้นมีองค์ประกอบอย่างไร มีการปฏิบัติอย่างไร” ทีมโฆษก ระบุ

เมื่อถามว่าจะมีการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมวัดพระธรรมกาย และกลุ่มผู้สนับสนุนหรือไม่ พ.อ.ปิยพงษ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ เรามองว่ามาจากใคร และใครให้การสนับสนุนโดยดูว่าใครให้สิ่งของ หรือ ตัวเงิน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตัวของพระธัมมชโยอย่างเดียว แต่เจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลอื่นๆ ด้วย เช่นการที่เราประกาศว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ กลุ่มคนที่ขัดขวางก็จะมีการนำผ้ามาปิดหน้าเพื่อไม่ให้ใบหน้าที่แท้จริง

ทีมโฆษก คสช.กล่าวด้วยว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) คงต้องมีการตั้งด่านตรวจรอบวัดพระธรรมกายเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะกรณีนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และสังคมที่กำลังจับตามองอยู่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุแทรกซ้อน ส่วนกรณีที่วัดมีทั้งบอลลูน และโดรนถ่ายภาพทางอากาศนั้นก็เป็นอีกประเด็นที่สื่อจะช่วยให้ประชาชนได้เห็นว่าเครื่องมือเช่นนี้มีความจำเป็นเพื่อใช้ในพื้นที่การปฏิบัติธรรมหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น