“สมชัย” เผยทีวีดิจิตอลส่งผังเผยแพร่รายการประชามติแล้ว 17 ช่อง มีช่อง “เสี่ยตา” ไม่สะดวก แนะรายการสนทนาเห็นต่างเชิญแกนนำ พท.-แดง กับ กรธ. ยอมปรับแก้เนื้อหาเพลง 7 สิงหาฯ เพื่อความสบายใจ สั่งสอบเพลงชี้นำไม่รับร่างฯ ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ แนะพิจารณาปรับเวลาจัดมินิคอนเสิร์ตหน้า กกต. หวั่นจราจรติดขัด เล็งส่งศาล รธน.แจงปมปัญหา พ.ร.บ.ประชามติพรุ่งนี้
วันนี้ (13 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ในกรณีการเผยแพร่รายการประชามติและร่างรัฐธรรมนูญทางสถานีโทรทัศน์ ที่นอกจากจะได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ 6 ช่องหลักเพื่อเผยแพร่รายการในช่วงเวลา 17.30-18.00 น.แล้ว ขณะนี้มีทีวีดิจิตอล 17 ช่อง จาก 20 ช่อง ที่ได้แจ้งผังรายการมาแล้วว่าจะนำรายการไปออกอากาศซ้ำในวันรุ่งขึ้น โดยมี 2 ช่องอยู่ระหว่างจัดทำผังรายการ คือ ทีเอ็นเอ็น 24 และ NOW26 ส่วนอีก 1 ช่องคือ Workpoint23 แจ้งว่าไม่สะดวกในการนำเทปรายการไปออกอากาศ ซึ่งหลังจากนี้ กกต.จะประชาสัมพันธ์รายการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ติดตาม อย่างไรก็ตาม ในกรณี 6 ครั้งที่แต่ละสถานีจะจัดรายการแบบการสนทนาของฝ่ายที่เห็นต่าง และสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนั้น คิดว่าแต่ละสถานียังไม่ชัดเจนเรื่องตัววิทยากรที่จะมาพูดคุย ส่วนตัวจึงอยากเสนอให้สถานีโทรทัศน์พิจารณาเชิญบุคคลที่เห็นต่าง เช่น นายจตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ขณะที่อีกฝ่ายอาจเชิญกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
นายสมชัยยังกล่าวกรณีเพลงรณรงค์ 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง ของ กกต.ที่เนื้อหาเพลงถูกมองว่าดูหมิ่นคนภาคเหนือ และอีสานว่า แม้คณะผู้จัดจะยืนยันว่าไม่มีเจตนา แต่เห็นว่าเมื่อสังคมอ่อนไหว มีการวิพากษ์วิจารณ์และเกิดความไม่สบายใจจึงจะได้มีการปรับแก้เนื้อหาเพลงทั้งหมดลดความแตกต่างในภูมิภาคให้น้อยลง แต่ยังคงให้นักร้องร้องเป็นภาษาถิ่นเช่นเดิม เพื่อเป็นการยกย่องวัฒนธรรมและศิลปะของภาคนั้นๆ และจะได้เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ที่มีสื่อนำเสนอเนื้อเพลงที่อ้างว่ามีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ยืนยันว่ายังไม่ใช่ข้อความตามนั้น ทั้งนี้ กกต.พร้อมรับคำวิจารณ์ และยินดีปรับแก้เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ และถูกใจมากขึ้น โดยในการประชุม กกต.วันพรุ่งนี้ก็จะมีการเสนอเนื้อหาที่มีการปรับแก้ให้ได้พิจารณา พร้อมกันนี้ในวันเดียวกันก็จะมีการเปิดตัวเพลงรณรงค์อีกเพลงหนึ่งด้วย
ส่วนกรณีการเผยแพร่คลิปเพลงอย่างนี้ต้องตีเข่า (โหวตไม่เอา แล้วตีตก) ที่มีเนื้อหาหยาบคาย บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จากการตรวจสอบพบว่ามีการเผยแพร่คลิปเวอร์ชัน 2 ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ในวันที่ 30 เม.ย.หลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้น ทาง กกต.จะส่งเนื้อหาเพลงให้กับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นการบิดเบือนเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาในการดำเนินคดีต่อไป ส่วนที่มีถ้อยคำเข้าข่ายหยาบคาย ขอให้สื่อเป็นผู้พิจารณา หากเห็นว่าไม่หยาบคายก็สามารถเผยแผร่ได้ อย่างไรก็ตาม ในเวอร์ชัน 2 นั้นจากการตรวจสอบน่าจะเป็นการกระทำของคนไทยในต่างประเทศ โดยมีคนไทยในประเทศบางส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งก็จะมีการพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ และที่ปรากฏมีภาพบุคคลที่เป็นที่รู้จักของสังคมเข้ารวมอยู่ด้วย 4 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาเชียงใหม่ และนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการ มธ. คิดว่าทั้ง 4 คนนี้น่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเชื่อว่ารู้กฎหมายเป็นอย่างดี คงจะไม่ทำอะไรที่จะกระทำผิดกฎหมาย จึงไม่เรียกร้องว่าจะต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
สำหรับที่ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับจะมาเปิดมินิคอนเสิร์ตที่หน้าสำนักงาน กกต.ในวันที่ 15 มิ.ย.เวลา 16.00 น.นั้น การแสดงออกดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ แม้จะมีข้อความหยาบคายหรือเป็นเท็จก็ไม่ผิดกฎหมายประชามติ แต่จะผิดก็ต่อเมื่อข้อความที่หยาบคาย เป็นเท็จ หรือชักจูงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้วมีการนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อ ส่วนจะผิดกฎหมายความมั่นคง ประกาศ คสช.ด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาเอง และส่วนตัวเห็นว่าการจัดกิจกรรมในเวลาดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อปัญหาจราจร เพราะเป็นเวลาเลิกงานของข้าราชการ จึงอยากให้พิจารณาเรื่องระยะเวลาจัดกิจกรรมใหม่
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนการทำคำชี้แจงของ กกต.ต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณี มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ทางสำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต.ได้มีการเสนอเรื่องให้ประธาน กกต.พิจารณาแล้วคาดว่าจะมีการเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาในเช้าวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) ก่อนที่จะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำชี้แจงก็จะเป็นการยืนยันว่า มาตรา 61 วรรคสองไมได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และกรณีจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวก็ต้องมีกากรระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดมากพอสมควร ทั้งนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูยได้รับคำชี้แจงจากทั้ง กกต. สนช.แล้ว ทางคณะตุลาการก็จะมีการพิจารณาว่าเพียงพอให้วินิจฉัยได้เลยหรือไม่ หรือจำเป็นต้องเชิญบุคคลมาชี้แจงให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีการวินิจฉัย