xs
xsm
sm
md
lg

ญาติพฤษภาทมิฬ-แม่เกด ร่วมดันแนวทางปรองดอง “เอนก” ขอ “บิ๊กป้อม” หนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.กก.ญาติวีรชนพฤษภาทมิฬ-แม่เกด-ตัวแทน กก.ปรองดองชุด “เอนก” แถลงค้าน กม.รอกำหนดโทษ ชี้ช่วยได้แค่เล็กน้อย อย่านำเรื่องมั่นคงมาอ้าง ปรองดองต้องให้ญาติเหยื่อมีส่วนร่วม หนุน “ประวิตร” ฐานะผู้มีบารมีตัวจริง สร้างปรองดองอย่าเพิ่งเบรกข้อเสนอ ย้ำต้องไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมดันแนวทางปรองดอง “เอนก” เสนอ สนช. ดัน กม.อำนวยความยุติธรรมสร้างสังคมสันติสุข คาดคลอดโมเดล 30 วัน



วันนี้ (12 พ.ค.) นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม จากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และนายภูมิ มูลศิลป์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ ในฐานะตัวแทนจากคณะกรรมศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิก สปช.เป็นประธาน ร่วมแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ผลักดันกฎหมายรอการกำหนดโทษ ของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยนายอดุลย์กล่าวว่า ขอชื่นชมนายเสรีว่ามีความกล้าหาญมากที่ออกมาเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ตนสนับสนุนการสร้างความปรองดองเหมือนที่คนในสังคมอยากเห็น แต่ขอคัดค้านวิธีการพักโทษ ที่ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการศึกษาที่ชุดนายอเนกทำไว้ อีกทั้งเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นไปไม่ได้ ประชาชนที่ออกไปชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพออกไปเรียกร้องทางการเมืองซึ่งผิดหรือถูกไม่มีใครรู้ แต่กลับให้ไปสารภาพผิดต่อศาล อีกทั้งการตัดสิทธิห้ามเลือกตั้งก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายอดุลย์กล่าวว่า ข้อเสนอของนายเสรีจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับโทษเล็กน้อย ฐานผิดกฎหมายความมั่นคงที่มีอยู่กว่าพันคน แต่ขณะนี้ก็พ้นโทษไปจนเกือบหมดแล้วเหลือเพียง 60-70 คนที่โดนคดีลักษณะกลางซอยพ่วงด้วย ตนไม่ได้บอกว่าข้อเสนอนี้ผิดหรือถูก แต่มันถึงเวลาแล้วที่ประเทศชาติจะต้องสร้างความปรองดอง การนำเรื่องความมั่นคงมาเป็นข้ออ้างจะกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในที่สุด โดยคนที่จะผลักดันให้เกิดการปรองดองขึ้นได้ก็ไม่ใช่แค่รัฐบาล หรือฝ่ายการเมืองแต่อย่างเดียว ต้องให้ญาติผู้สูญเสียมีส่วนร่วมด้วย

“อยากฝากถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ว่าการออกมาเบรกข้อเสนอของนายเสรีนั้นไม่ถูกต้อง ความปรองดองในชาติคือสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงของประเทศจะต้องสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของนายเสรี หรือแนวทางของคณะกรรมการปรองดอง สปช. ที่อาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมในวันข้างหน้า พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้มีบารมีตัวจริง ดำเนินการเหมือนเป็นนายกฯ หรือใครก็ตามใน คสช. หากดำเนินการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ ญาติวีรชนพฤษภา 35 จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” นายอดุลย์กล่าว

นางพะเยาว์กล่าวว่า ข้อเสนอนายเสรีเหมือนหักด้ามพร้าด้วยเข่า คดีเกี่ยวกับผู้สูญเสียหลายคดียังคงดำเนินอยู่ อย่างคดี น.ส.กมนเกด ลูกสาว ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพก็ชี้แล้วว่าเสียชีวิตจากระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้า หน้าวัดปทุมฯ แนวทางของนายเสรีจึงคือการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แกนนำจากทุกสีทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ แต่ญาติผู้เสียชีวิตไม่ได้อะไรเลย เชื่อว่าจะไม่สำเร็จและถูกต่อต้านอย่างแน่นอน หากรัฐบาลนี้อยากจะผลักดันเรื่องความปรองดองก็ไม่คัดค้าน แต่วิธีการจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น คดียึดสนามบินจะได้รับการพักโทษ แต่กลับไม่ครอบคลุมคดีเผา

ด้านนายภูมิ มูลศิลป์ อดีตกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวถึงความคืบหน้าในการเสนอกฎหมายอำนวยความยุติธรรมเพื่อสร้างสังคมสันติสุขตามเนื้อหาที่คณะกรรมการฯ ชุดนายเอนกเสนอมา ว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาหลักการ ร่วมกับทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าภายใน 30 วันนับจากนี้จะมีความคืบหน้า ซึ่งจะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากข้อสรุปของอดีตคณะกรรมการปรองดองฯ โดยเนื้อหาที่หารือในเบื้องต้นจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งจะเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากสังคมและเป็นที่ยอมรับจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในทุกกรณี ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้จะพิจารณาคดีความเกี่ยวกับทางการเมือง โดยจะจำแนกความคิดแต่ละกรณีเพื่อดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับผู้ชุมนุมจะมีการจำแนกเป็น 2 ส่วน คือ ประชาชน และแกนนำ ซึ่งในส่วนของประชาชนจะพิจารณาความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับ 1. เหตุการณ์ความรุนแรงที่ละเมิดสิทธิ เช่น การฆ่า การลักทรัพย์ ส่วนการเผาจะต้องดูที่เจตนารมณ์ว่ามีแรงจูงใจในทางที่ผิดทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่หากถูกว่าจ้างให้มาเผาโดยตรงก็จะไม่เข้าข่าย

นายภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของแกนนำก็จะเปิดช่องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งจะต้องมีการสำนึก รับผิด ซึ่งจะต่างจากคำว่า “ยอมรับผิด” โดยคำว่า “การสำนึกรับผิด” อาจจะหมายถึงการยอมรับว่าการต่อสู้ในอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาคิดว่าถูกต้องนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ และการดำเนินการต่อจากนั้นจะเป็นไปตามกฎหมายปกติที่มีอยู่โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสังคมทุกภาคส่วนเป็นฉันทามติ ส่วนกรณีหลังจากนั้นก็จะเป็นการพิจารณาต่อไปว่าควรออกเป็นกฎหมายพิเศษหรือไม่ เช่น กฎหมายนิรโทษกรรมว่าสังคมมีความพร้อมหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเปราะบางและที่ผ่านมาได้นำไปสู่ความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการนิรโทษกรรมจะเป็นไปตามกรอบที่ไม่รวมไปถึงคดีทุจริตคอร์รัปชั่น คดี ม.112 คดีละเมิดสิทธิบุคคลอื่นโดยการฆ่า เป็นต้น






กำลังโหลดความคิดเห็น