xs
xsm
sm
md
lg

“วิลาศ” ท้า “เสรี” ถอนหุ้นอีสต์วอเตอร์ เผยการประปาภูมิภาคฉาว 5 เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิลาศ จันทร์พิทักษ์ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ส.ปชป.เรียกร้อง “เสรี ศุภราทิตย์” ผู้ว่าฯ ประปาภูมิภาคคนใหม่สางปมทุจริต 5 เรื่อง ตรวจสอบเจ้าพ่อคลอรีน “ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์” ต่อรองไม่โปร่งใส แถมบวกค่าขนส่งผิดปกติ พร้อมเรียกร้องถอนหุ้น “อีสต์วอเตอร์” เหตุสูบเลือดจนได้กำไรแบ่งโบนัส แต่ กปภ.ร่อแร่ แถมพ่วงวางท่อประปาประจวบฯ ไร้คุณภาพ ก่อสร้างอาคารประปาเขต 1 มิชอบ และซื้อที่ดินสุราษฎร์ฯ แนวเวนคืน แถมแพงเกินจริง

วันนี้ (12 มิ.ย.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้นายเสรี ศุภราทิตย์ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รวม 5 เรื่อง อาทิ การจัดซื้อคลอรีนเหลว ซึ่งมีการประกวดราคากันไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นซองสองบริษัทแต่มีบริษัท ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าพ่อคลอรีนประจำประเทศไทยทำการยื่นซองวันที่ 25 มกราคม 2559 โดยการประปาส่วนภูมิภาคได้ต่อรองราคา แสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติ เพราะการเคาะราคากำหนดไว้วันที่ 26 มกราคม 2559 เป็นวันที่กำหนดให้เคาะราคา

อย่างไรก็ตาม ในทีโออาร์ระบุว่าหลังจากเคาะราคาให้มีการต่อรองราคาจึงมีการนำประเด็นนี้มาอ้าง แต่ก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากยังไม่มีการเคาะราคา เพราะยังไม่ถึงกำหนด แต่กลับมีการต่อรองราคาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอน นอกจากนี้ การเสนอราคาก็มีพิรุธในเรื่องการต่อรองราคาด้วย โดยจะเป็นราคาค่าขนส่งกับค่าแก๊สบวกคลอรีนเหลว ซึ่งราคาค่าขนส่งสุงเกินความจริง เช่น บริเวณภาคตะวันออกในเขตที่ 1 ค่าขนส่งอยู่ที่ 1,260 บาทต่อท่อ ค่าแก๊ส 1,250 บาท ที่น่าประหลาดใจคือ มีการมั่วตัวเลขในการบวกสองส่วนนี้อีก 50 บาท คือ จากราคา 2,510 บาท เป็น 2,560 บาท จึงขอให้ตรวจสอบว่าเหตุใดค่าขนส่งจึงแพงบ้าเลือดขนาดนี้

2. การวางท่อประปา 44.5 กิโลเมตรที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 715 ล้าน โดยในช่วงปีแรกหลังมีการท่อประปามีท่อประปาแตกจำนวน 132 ครั้ง ทำให้การประปาเสียหายจากน้ำรั่วไหลกว่า 162.5 ล้านบาท มีการตั้งกรรมการสอบ แต่คนที่รับผิดชอบกลับได้เลื่อนเป็นรองผู้ว่าฯ มีแค่นายช่างเล็กๆ ที่ถูกไล่ออก 2 คน ส่วนตัวใหญ่มีแค่คำว่ากล่าวตักเตือน ไม่มีการดำเนินคดี ขณะที่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งที่มีการนำท่อที่ไม่ได้มาตรฐานไปก่อสร้าง ซึ่งมาจนถึงปัจจุบันเกิน 2 ปีแล้วทำให้หมดสัญญาค้ำประกัน แต่ยังไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บริษัทที่วางท่อประปาก็ยังรับงานกับหน่วยงานนี้ต่อ

3. การก่อสร้างอาคารที่การประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 (รับผิดชอบจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว และปราจีนบุรี) โดยมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว วงเงินประมาณ 25 ล้านบาท ลงนามโดยผู้อำนวยการเขต 1 ซึ่งในสัญญาระบุว่าจะต้องมีการจ่ายเงินงวดแรก 15 เปอร์เซ็นต์ หลังเซ็นสัญญา โดยมีการนำหนังสือค้ำประกันจากบริษัทลิสซิ่ง ทั้งที่ไม่สามารถทำได้ ทำให้ต้องบอกเลิกสัญญา และนำบริษัทรายใหม่เข้ามา อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเรียกค่าชดเชยจากบริษัทแรก ซึ่งปัจจุบันคนที่รับผิดชอบเป็นถึงรองผู้ว่าการประปาฯ แล้ว

4. การซื้อที่ดินที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในราคาสูงเกินจริง และยังเป็นการซื้อที่ดินในแนวเวนคืนด้วย จึงเกิดคำถามว่า ไปจัดซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวได้อย่างไร อีกทั้งหลังจากซื้อแล้วยังหาแหล่งน้ำดิบไปทำน้ำประปาไม่ได้ โดยที่ดังกล่าวเป็นที่ติดจำนอง เมื่อจะถูกเวนคืนก็เลยไม่มีการไถ่ถอน จากนั้นการประปาส่วนภูมิภาคได้ไปซื้อที่ดินดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันทิ้งไว้เฉยๆ ไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ มีแต่การก่อสร้างอาคารมาตั้งแต่ปี 2553 ที่สำคัญคือ กรณีนี้ทำผิดระเบียบเพราะเป็นการซื้อที่ดินในแนวเวนคืน

5. กรณีบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสต์วอเตอร์ เป็นบริษัทที่สูบเลือดจากการประปาส่วนภูมิภาค ได้กำไรและแบ่งโบนัสกัน แต่การประปาส่วนภูมิภาคอาการร่อแร่ หลังมีการตั้งบริษัทดังกล่าว เพราะต้องซื้อน้ำดิบมาทำประปาผ่านบริษัท อีสต์วอเตอร์ ทำให้ต้องซื้อน้ำดิบในราคาแพงถึงคิวละ 10.50 บาท โดยอ้างว่าบริษัท อีสต์วอเตอร์ลงทุนวางท่อ ทั้งที่เดิมเคยซื้อจากกรมชลประทานได้ในราคาคิวละ 50 สตางค์ บริษัทดังกล่าวจึงเป็นเหมือนเสือนอนกิน และยังมีการตั้งบริษัทลูกมารับงานจากการประปาส่วนภูมิภาคด้วย จึงขอเรียกร้องให้การประปาส่วนภูมิภาคถอนหุ้นออกมา

ที่สำคัญคือ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า การที่การประปาส่วนภูมิภาคถือหุ้นในอีสต์วอเตอร์เป็นการกระทำที่ขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประภาส่วนภูมิภาค มาตรา 5 โดยตีความไว้ตั้งแต่ปี 2542 แต่กลับไม่มีการถอนหุ้นออกมา ทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่นายเสรี ในฐานะผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคคนใหม่ ที่ประกาศว่าจะเอาจริงเอาจังกับการทุจริตควรจะดำเนินการอย่างจริงจัง โดยตนจะนำเรื่องความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นกับการประปาส่วนภูมิภาครวม 5 เรื่องไปมอบให้นายเสรี เพราะแสดงเจตนาว่าจะปราบปรามการทุจริตมาตลอด จึงหวังว่าจะเร่งดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส โดยจะให้เวลา 1 เดือน หากไม่มีความคืบหน้าจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น