รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เปิดงานสัมมนาพร้อมขับเคลื่อนการลงทุนท้องถิ่นร่วมกับ 7 หน่วยงาน เผย รัฐบาลเน้นหนักพัฒนาท้องถิ่น ห่วงภาคเกษตรผลผลิตตกต่ำ - ฝนแล้ง ยันเร่งแก้ไขปัญหาระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมระยะยาวสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน หนุนโครงการตำบลละ 5 ล้าน ช่วยสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็งฐานราก เดินหน้าขับเคลื่อน “ประชารัฐ” เร่งพัฒนาหมู่บ้านโอทอป เพื่อสร้างอาชีพ - สร้างความมั่นคงชนบท
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ท้องถิ่นก้าวไกล เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า” พร้อมร่วมพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมขับเคลื่อนการลงทุนท้องถิ่น โดยมี 7 หน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
นายสมคิด กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชน เป็นนโยบายเน้นหนักของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเศรษฐกิจของชาติมี 2 ภาคส่วน คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ และการเกษตรหรือตามชนบท ซึ่งทั้ง 2 ภาคส่วนจะต้องเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน เรื่องจริงของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังยากจนเพราะมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งในประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ ซึ่งผู้ว่าการธนาคารโลก บอกว่า หน้าที่ของธนาคารโลก คือ การขจัดความยากจนอย่างที่สุดให้หมดไปในปี ค.ศ. 2030 และอีกประการหนึ่ง คือ ทำอย่างไรให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีรายได้สูงอยู่แล้วจะช่วยกระจายความสุขให้คนอื่น ๆ ได้อย่างไร และจะทำให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนไปได้อย่างไรด้วย
อย่างไรก็ตาม การมองดูว่าส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ มีสภาวการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่ดูเฉพาะตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบิลไพรซ์ บอกว่า เราต้องมองข้าม GDP แต่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงต้องดูที่กำลังซื้อ หรือรายได้ของคนที่มีฐานะปานกลาง และยากไร้ ซึ่งหากมีความสามารถมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบรูไนเวลานี้แม้ถือว่าเป็นประเทศร่ำรวยแต่ก็กำลังอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง เพราะพึ่งพาราคาน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่มาเลเซียก็เริ่มมีแนวโน้มถดถอยทางเศรษฐกิจ
รองนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงภาคเกษตรอย่างมาก เพราะปีที่ผ่านมาราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำ และเกิดภาวะฝนแล้ง ทำให้เกษตรกรยากไร้เพิ่มขึ้น ซึ่งภาคเกษตรนี้จะส่งผลกระทบกับภาคส่วนอื่นในระบบเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ ซึ่งรัฐบาลก็เร่งแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้น ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาวก็ต้องทำตามนโยบายที่ธนาคารโลกตั้งไว้ คือ ต้องทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยจากการคิดการทำจากด้านล่างขึ้นมาข้างบน เช่น Otop 15 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันว่า แสดงให้เห็นว่า คนในชนบทมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นตัวอย่างของ Social Moblization ที่ดี คือ สังคมต้องเข้ามาร่วมเรียนรู้ร่วมกัน และกำลังจะทำ Otop Village แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโครงการจึงเลิกไป แต่โชคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญจึงมีโครงการตำบลละ 5 ล้าน หมู่บ้านละ 2 แสนบาทที่เป็นโครงการที่เกิดจากฐานราก อันเป็นแนวทางที่ดีของการ social mobilization
นายสมคิด กล่าวยกตัวอย่างของกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ ที่ได้ช่องทางโอกาสจากวิทยาการแห่ง IT digital คือ การขายผ่าน emarket และที่สำคัญ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ยกระดับเขาขึ้นมา ซึ่งวันนี้ ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และที่พูดว่า Otop Village จะเป็นสิ่งที่นำมาปัดใหม่ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน และ อปท. ก็ต้องทำ ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องช่วยกัน ซึ่ง BOI จึงได้เข้ามาช่วยในวันนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังสร้างประชารัฐขึ้นมา คือ ประชารัฐสังคมหรือประชาสังคม ที่จะทำให้การเมืองมีความมั่นคงเข้มแข็ง เพื่อให้ประเทศชาติจะมีความมั่นคงเข้มแข็ง