xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ระบุอัตราเติบโต “พม่า” วูบ เผชิญอุทกภัย-ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ปัญหาอุทกภัยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของพม่า ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจน่าประทับใจที่สุดของโลก จากการเปิดเผยของธนาคารโลกเมื่อวันอังคาร(31พ.ค.)
เอเอฟพี - ธนาคารโลกระบุในวันอังคาร (31 พ.ค.) พม่าที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจน่าประทับใจที่สุดของโลก กำลังถูกรุมฉุดทั้งจากสถานการณ์น้ำท่วมหนักและการลงทุนชะลอตัวจากความไม่แน่นอนในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอองซาน ซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ขึ้นสู่อำนาจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากชนะการเลือกตั้งขาดลอยเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการยุติระบอบปกครองของฝ่ายทหารที่ดำเนินมานานถึง 5 ทศวรรษ และยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วย

กระนั้น เวิลด์แบงก์ระบุเมื่อวันอังคารว่า การเลือกตั้งและช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสองรัฐบาลที่กินระยะเวลายาวนาน ได้ส่งผลเหนี่ยวรั้งการเติบโตของพม่าตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกทั้งทำให้นักลงทุนกังวลระหว่างที่รอให้ระบบต่างๆ เข้าที่เข้าทาง

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของพม่าระหว่างปีงบประมาณ 2015/16 จะอยู่ที่ 7% ซึ่งแม้ยังเป็นระดับสูงสุดในบรรดาประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดของโลก แต่ถือว่าลดฮวบจากสถิติ 8.5% ในปีงบประมาณก่อนหน้า และลดลงจากตัวเลขประมาณการก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 8.2%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกสำทับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของพม่ายังคงเข้มแข็ง

อับดูลาเย เซ็ค ผู้จัดการประจำประเทศพม่าของเวิลด์แบงก์ แจงว่า แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าในปีที่ผ่านมาชะลอลง แต่ก็ยังคงเป็นเครื่องจักรอันแข็งแรงสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของชาวพม่า

ธนาคารโลกบอกด้วยว่า ฝนจากฤดูมรสุมที่ตกลงมาอย่างหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างทั่วภาคตะวันตกและภาคกลางของพม่าในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลิตภาพและการส่งออก

ขณะเดียวกัน อุปสรรคข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่ยังคงปรากฏอยู่ต่อเนื่อง ความกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนระยะสั้น และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ก็เป็นปัจจัยช่วยกันบีบคั้นการเติบโตของพม่า

นับจากรัฐบาลทหารถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลกึ่งทหารที่ส่งเสริมการปฏิรูปประเทศในปี 2011 เศรษฐกิจพม่ากลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงทันตา จากการที่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่ยกเลิกการคว่ำบาตร และต่างชาติแห่เข้าลงทุน

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติให้แก่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งกระตุ้นความหวังว่าเศรษฐกิจพม่าจะดีวันดีคืน

แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลของซูจีต้องเผชิญงานท้าทายหนักหน่วง อาทิ การที่พม่าซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย กำลังประสบภาวะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล้วนเสื่อมสภาพ ขณะที่มีความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติตามแนวชายแดน แล้วยังเรื่องระบบพวกพ้องที่โยงใยกับกองทัพและยุครัฐบาลทหาร โดยที่ระบบดังกล่าวยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในวงการธุรกิจเวลานี้

ไม่เพียงเท่านั้น ซูจียังถูกจำกัดจากระบบการเมืองอันซับซ้อนของพม่า ซึ่งทหารยังคงควบคุมกระทรวงทางด้านความมั่นคงและผูกขาดที่นั่งในรัฐสภาเป็นจำนวน 1 ใน 4


กำลังโหลดความคิดเห็น