xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์เยี่ยมคารวะ “ประยุทธ์” ชื่นชมการแก้ปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รักษาการผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เผยชื่นชมการแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านนายกฯ แจงไทยกำลังเดินไปข้างหน้าปฏิรูปรอบด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน รับเลือกตั้งอนาคตอันใกล้ พร้อมยกระดับประชาชนที่มีรายได้น้อย สนับสนุนภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี และสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

วันนี้ (22 เม.ย.) นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นำนาย Constantine Chikosi รักษาการผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและคณะทีมวิจัยจากธนาคารโลก เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเยือนประเทศไทยของคณะทีมวิจัยจากธนาคารโลกในครั้งนี้ เพื่อศึกษาข้อมูลและนำมาจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ ของประเทศต่างๆ (Ease of Doing Business) โดยในวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเชื่อมั่นแก่ทีมวิจัยจากธนาคารโลกในหลายประเด็น ทำให้ผู้แทนจากธนาคารโลกกล่าวชื่นชมความพยายามของรัฐบาลและความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดูแลทุกสุขของประชาชนชาวไทย

สำหรับประเด็นแรก นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง การปฏิรูปประเทศ ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้ประเทศไทยประสบกับภาวะชะงักงันมาระยะหนึ่ง จนนายกรัฐมนตรีจำเป็นที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ โดยวันนี้ ไทยกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงด้วยการปฏิรูปรอบด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รัฐบาลชุดปัจจุบันมีความตั้งใจจริงและมีกรอบเวลาทำงานที่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายเพื่อให้ประเทศพัฒนาและก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศไทยโดยกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการทำงานอย่างชัดเจนเป็นระบบและครอบคลุมทุกด้าน เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน และจะให้มีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้

ในประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญใน 3 ส่วน ส่วนแรก คือ การยกระดับประชาชนที่มีรายได้น้อย ส่วนที่สองคือ การดูแลและสนับสนุนการดำเนินการของภาคธุรกิจและ SMEs ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการสร้างบรรยากาศการลงทุน การอำนวยความสะดวกต่างๆและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนที่สาม คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยมีการพัฒนาความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง การพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งหากธนาคารโลกมีข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนา รัฐบาลพร้อมที่จะศึกษาและให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัจจุบันยังมีความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับ ประเทศที่กำลังพัฒนา จึงอยากให้ธนาคารโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาแก่ประเทศเหล่านี้มากขึ้น เพื่อลดช่องว่างทางรายได้และการพัฒนา

โดยผู้แทนจากธนาคารโลก ได้กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าการได้พบกันในวันนี้ ได้แสดงให้ถึงความมุ่งมั่นจริงใจของนายกรัฐมนตรีและเจตจำนงทางการเมืองซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ ในการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ทีมวิจัยจากธนาคารโลกได้มีโอกาสพบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหลายท่าน ทำให้ทราบว่า รัฐบาลมีการปฏิรูปที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัล การปรับปรุงระบบภาษี การสนับสนุนผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้ง ในภาคการเกษตร ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร โดยธนาคารโลกยังเห็นด้วยกับการจัดลำดับความสำคัญและนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แม้ว่ายังคงต้องมีการติดตามและประเมินผลในบางประเด็นเพิ่มเติม แต่รู้สึกประทับใจกับพัฒนาการต่างๆของประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารโลกพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและแบ่งปันประสบการณ์การให้คำปรึกษาแก่ประเทศต่างๆ เช่น จีน เวียดนาม จอร์เจีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความยินดีและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประสานงานกับธนาคารโลก และเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานหลักในเรื่องนี้ต่อไป










“คลัง” มั่นใจอันดับ Doing Business ไทยขยับขึ้น “สมคิด” เชื่อเวิลด์แบงก์เน้นศักยภาพมากกว่าดูจีดีพี
“คลัง” มั่นใจอันดับ Doing Business ไทยขยับขึ้น “สมคิด” เชื่อเวิลด์แบงก์เน้นศักยภาพมากกว่าดูจีดีพี
“รมว.คลัง” มั่นใจอันดับ Doing Business ไทยปีนี้ขยับขึ้นได้ หลังจี้หน่วยงานรัฐเร่งปรับปรุงขั้นตอนทำงานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาได้ถึงเกณฑ์ ซึ่งเวิลด์แบงก์จะประกาศ 1 มิ.ย.นี้ “สมคิด” เชื่อเวิลด์แบงก์มีความพอใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา และปฏิรูประบบต่างๆ ของไทย และต้องการให้ไทยมีการดำเนินงานในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการขยายตัวของจีดีพีมากนัก แต่กลับมองไปที่การพัฒนาประเทศว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น