สปสช. เผย กองทุนสุขภาพตำบล เปิดช่อง อปท. จัดรถรับ - ส่ง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังได้ ช่วยเพิ่มเข้าถึงบริการสุขภาพได้ หลังพบปัญหาเข้าถึงบริการต่ำ เหตุเดินทางลำบาก ค่าใช้จ่ายสูง ธนาคารโลกยก “กาฬสินธุ์” ต้นแบบ หนุนขยายการดำเนินงานทุกตำบล
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ รายงานจากธนาคารโลกเรื่อง “ปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ : ความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมทางสังคมในประเทศไทย” พบว่า ผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบทยังประสบปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข แม้ว่าจะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ สาเหตุคือมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานพยาบาล และจากรายงานพบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีบทบาทในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีบริการรถตู้ฉุกเฉินสำหรับชุมชนและจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดี และให้ข้อแนะนำว่าควรขยายบทบาทนี้ไปสู่ท้องถิ่นอื่น ๆ ต่อไป
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สปสช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือ กองทุนสุขภาพตำบลขึ้น ตั้งแต่ปี 2549 ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 47 ที่มุ่งเน้นให้ อปท. มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทั่วถึงมากขึ้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2557 เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ อปท. ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ นั้น ท้องถิ่นสามารถจัดบริการเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ เช่น การจัดรถรับส่งผู้สูงอายุเพื่อการรักษาที่สถานพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจท้องถิ่นที่สามารถทำได้เลยเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการ และที่ผ่านมา ก็มีหลายแห่งที่ดำเนินการด้านนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในพื้นที่ และเป็นรูปแบบหนึ่งที่ อบต. และเทศบาลจัดบริการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงบริการสาธารณสุขในด้านต่าง ๆ
ทั้งนี้ รายงานของธนาคารโลกได้ยกการจัดการของ อบต. และเทศบาลหลายแห่งใน จ.กาฬสินธุ์ ที่แก้ปัญหาผู้สูงอายุเดินทางไปรับบริการที่ รพ. ลำบากด้วยการจัดบริการรถรับ - ส่งผู้ป่วยให้ ซึ่งการดำเนินการระยะแรกกำหนดเฉพาะให้บริการสำหรับฉุกเฉิน ต่อมาได้ขยายเป็นการบริการรับ - ส่งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่ต้องพบแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยากจนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมและยกระดับการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการทางสุขภาพในผู้สูงอายุ และตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัยในปัจจุบัน โดยระบุว่า ตัวอย่างแผนงานของจังหวัดกาฬสินธุ์นี้ เป็นแนวปฏิบัติที่ประเทศไทยสามารถนำไปใช้และขยายผล เพื่อลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพแก่ผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่