xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ระบุผลสอบคลิปเพลงไม่รับร่าง รธน.เป็นของเก่า หากเผยแพร่ซ้ำเข้าข่ายผิด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร
กกต.เผยผลสอบคลิปเพลงไม่รับร่าง รธน.เป็นของเก่าก่อน พ.ร.บ.ประชามติบังคับใช้ แนะบุคคลในคลิปหากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปแจงตำรวจยืนยันความบริสุทธิ์ เหตุเผยแพร่ซ้ำเข้าข่ายผิดกฎหมาย ระบุกรณีนี้ย้ำถึงความจำเป็นจะต้องมี ม.61 วรรคสองไว้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า จากกรณีมีการเผยแพร่คลิปเพลงที่มีเนื้อหาหยาบคาย จูงใจให้คนไปใช้สิทธิออกเสียงรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะทำงานของ กกต.แล้วพบว่าคลิปดังกล่าวมีการเผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2559 ก่อน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 เม.ย. จึงถือว่าผู้จัดทำและเผยแพร่ครั้งแรกไม่ผิดกฎหมายแต่อาจจะผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญา กฎหมายความมั่นคง และประกาศ คสช. นอกจากนี้แนะนำว่าผู้ที่จะนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ซ้ำในระหว่างนี้ไม่สามารถทำได้เพราะจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายประชามติมาตรา 61 วรรคสอง

ส่วนการตรวจสอบตัวบุคคลที่อยู่ในคลิปพบว่ามีลักษณะคล้ายกับบุคคลที่เป็นที่รู้จักในทางสังคม 1. นายอานนท์ นำภา ทนายความนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายณัฐภัทร อัคฮาด นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเรียน ส่วนตัวอยากแนะนำให้บุคคลเหล่านี้และบุคคลอื่นที่อยู่ในภาพคลิปอีก 20 คน หากไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ซ้ำคลิปดังกล่าวขอให้ไปแจ้งลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กกต.จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะชัดเจนว่าเข้าข่ายเป็นความผิดที่จะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปหรือไม่

ทั้งนี้ นายสมชัยยังกล่าวด้วยว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างว่าการประชามติครั้งนี้จำเป็นที่จะต้องมีมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติไว้ในบังคับ เนื่องจากมีบุคคลออกมาเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ปลุกปั่นซึ่งสังคมไทยไม่ปรารถนาให้ความวุ่นวายเกิดขึ้น มาตราดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณา

อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญก็ยังมีมาตราอื่นใน พ.ร.บ.ประชามติ เช่น การกล่าวเท็จ ก็มีมาตรา 61 (3) ที่ห้ามหลอกลวง ใช้ควบคุมอยู่ หรือการพูดหยาบคายก็มีกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทควบคุมดูแลอยู่ แต่ทั้งนี้จะไม่ครอบคลุมในเรื่องที่สามารถเอาผิดว่าเป็นการก่อความวุ่นวายได้เหมือนกับมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ และ กกต.ก็ต้องไปยกร่างกฎหมายและแก้ไขระเบียบ กกต.ให้สอดคล้องต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น