“สมชัย” ประชุมผู้บริหารทีวีดิจตอล พร้อมร่วมมือ กกต.เผยแพร่รายการประชามติร่าง รธน. แจงผังพร่งนี้ แย้มออกอากาศคนละช่วงเวลา เหตุดักคนดูได้แยะกว่า เผยวางตัวแทนแจงศาล รธน.ปม ม. 61 วรรคสองแล้ว ยันเดินหน้าเตรียมประชามติต่อเหตุ กม.บังคับใช้อยู่ หยุดถูกฟ้องละเว้นหน้าที่ ย้ำ กกต.ไร้อำนาจเลื่อนประชามติ เว้นจะแก้ รธน.ชั่วคราว
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมผู้บริหารสถานีดิจิตอลทีวี 19 ช่องเพื่อจัดสรรเวลในการออกอากาศการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนญว่า สถานีดิจิตอลทีวีทั้งหมดพร้อมให้ความร่วมมือกับกกต.ในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ โดยจะเกี่ยวสัญญาณถ่ายทอดตั้งแต่ 17.30-18.00 น.หรือสามารถนำไปออกอากาศซ้ำภายในวันเดียวกันตั้งแต่เวลา 18.30-21.30 น. รวมทั้งสามารถนำไปออกอากาศในวันถัดไปในช่วงเวลาตั้งแต่เวลา 22.00-24.00 น.หรือตั้งแต่ 06.00-24.00 น. และขอได้ขอให้สถานีดิจิตอลแจ้งผังรายการให้ กกต.รับทราบภายในวันศุกร์นี้
ด้านนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล กล่าวว่า เรายินดีสนับสนุนราชการและ กกต.ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนมาออกเสียงประชามติเป็นจำนวนมาก และได้เสนอกับ กกต.หากให้ทุกช่องออกอากาศรายการพร้อมกันทำให้เกิดประโยชน์น้อย ดังนั้นเสนอให้ออกอากาศคนละเวลาเชื่อว่าจะสามารถดักคนดูได้มากกว่าการออกอากาศพร้อมกัน
ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า เบื้องต้นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง ถ้าศาลรับพิจารณาก็ต้องดูว่าจะเรียกให้ใครไปชี้แจง ซึ่งอาจจะเชิญผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจงเช่น สนช.ซึ่งทราบว่า สนช.ได้มอบหมายบุคคลที่จะเข้าชี้แจงไว้แล้ว ส่วน กกต.ก็พร้อมจะส่งตัวแทนไป ทั้งนี้ กระบวนการร่างกฎหมายมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องให้คนที่เข้าใจดีที่สุดเป็นฝ่ายไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นายสมชัยยังกล่าวกรณี นปช.เรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติยุติการเตรียมการเกี่ยวกับประชามติไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้ ตราบใดที่กฎหมายบังคับใช้อยู่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไป ไม่เช่นนั้นจะถูกร้องฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ หากศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฝ่ายที่มีบทบาทในการยกร่างฯ ต้องเป็นผู้เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติใหม่ โดยอาจจะให้รัฐบาล สนช. หรือ กกต.เป็นผู้ยกร่างฯแก้ไข หรือจะตัดเอาวรรคดังกล่าวออก รวมถึงอาจเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแล้วส่งให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบจากนั้นก็ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้ต่อไป นอกจากนี้ กกต.จะมาดูว่าระเบียบหรือประกาศของ กกต.ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯหรือไม่ ถ้าขัดแย้งก็จะแก้ไขให้สอดคล้อง
เมื่อถามว่าศาลจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 7 ส.ค.หรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ไม่มีใครตอบได้ หรือเร่งรัดใครได้ ควรให้เวลาศาลพิจารณาอย่างเพียงพอ และยืนยันอีกครั้งว่า กกต.ไม่มีอำนาจเลื่อนวันออกเสียงประชามติได้ แต่สามารถขยับให้อยู่ให้อยู่กรอบ 120 วัน ซึ่งขยับไปอีกได้แค่ 4 วัน และจะทำให้การลงมติจะไม่ตรงกับวันหยุด ยกเว้นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงจะเลื่อนได้