สนช.ตั้งกระทู้ถามเหมืองแร่ทองคำพิจิตร ถึงมาตรการเยียวยา หลัง ครม.สั่งยกเลิกสัมปทาน รมว.อุตฯ แจงมีการฟื้นฟูบ่อเหมือง เฝ้าระวัง 3 ปี ดูเรื่องสุขภาพระยะยาว เผย ครม.เห็นชอบให้จัดหางานใหม่พนักงานที่รับผลกระทบ พร้อมตรวจสารตกค้าง
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ตั้งกระทู้ถามเรื่องเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร โดยมีนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ โดยนายกิตติศักดิ์ ได้สอบถามถึงมาตรการในการเยียวยาทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และบุคคลที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกเลิกสัมปทานการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองทองอัครา รีซอร์สเซส และกำหนดให้ดำเนินการต่อถึงสิ้นปี 2559 เท่านั้น
นางอรรชกาชี้แจงว่า การฟื้นฟูพื้นที่ได้มีการกำหนดไว้หลายอย่าง เช่น การฟื้นฟูบ่อเหมือง การจัดการมูลหิน และบ่อเก็บกักแร่ เป็นต้น ซึ่งบ่อเก็บกักแร่มีความสำคัญเพราะที่บ่อที่บรรจุสารเคมี หรือสารไซยาไนต์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุดลงจะต้องเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมไปอีก 3 ปี และทางราชการจะต้องติดตามและเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพและมลภาวะต่อไปในระยะยาว กรณีผู้ประกอบการไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ภาครัฐสามารถนำกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตมาใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานช่วยจัดหางานใหม่ให้กับพนักงานทั้งจากบริษัท อัคราฯ และพนักงานจากบริษัทรับเหมา เนื่องจากถูกออกจากงานด้วย
นายอรรชกากล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่รอบเหมืองขณะนี้มีปัญหาเรื่องโลหะหนักอยู่ในร่างกายของประชาชนหรือไม่ ซึ่งคณะทำงานด้านสุขภาพได้วางแผนจะตรวจสอบสุขภาพประชาชนในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอชัยบาดาล, จังหวัดพิจิตร ระหว่างเดือน ก.ค.-ต.ค.นี้ ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำได้มีการปรับปรุงระบบประปาเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการตรวจสอบสารตกค้างในพืชผักซึ่งกรมอนามัยตรวจสอบแล้วพบว่าสารเคมีไม่เกินค่าอ้างอิง แต่ผลวิจัยของนักวิชาการปรากฏว่าได้ผลเกินค่าอ้างอิง ดังนั้นขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันเพื่อเปรียบเทียบผลการตรวจสอบ
“แรงงานที่จะตกงาน คาดว่าจะมีประมาณ 1000 คน ทั้งจากบริษัท อัครา และบริษัทผู้รับเหมา โดยค่าชดเชยที่บริษัทต้องจ่ายตามกฎหมาย กรณีทำงานตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน ตั้งแต่1ปีไม่ถึง 3 ปี ได้ 90 วัน ตั้งแต่ 3 ปี ไม่ครบ 6 ปี ได้ค่าชดเชยได้ 180 วัน ตั้งแต่ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี ได้ 210 วัน และตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ได้ 300 วัน” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว