xs
xsm
sm
md
lg

มติ ครม. 10 พ.ค. 2559 ห้ามทำเหมืองทองคำทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประเทศไทย มีเหมืองแร่ทองคำที่ได้รับประทานบัตรหรือใบอนุญาตให้ขุดแร่ได้ 33 แปลง พื้นที่รวมกันประมาณ 6 พันไร่ เกือบทั้งหมด อยู่ในจังหวัด เลย เพชรบูรณ์ พิจิตร และ พิษณุโลก นอกจากนั้น อยู่ในจังหวัดนราธิวาส ก่าญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

เอกชนที่ได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองขุดแร่ทองคำมีทั้งหมด 5 ราย 3 ราย ประทานบัตรหมดอายุไปแล้ว เหลืออยู่ 2 ราย ที่มีอายุประทานบัตรถึงปี 2570 คือ บริษัททุ่งคำ จำกัด และบริษัทอัครา รีซอร์สเซส

บริษัททุ่งคำ เป็นบริษัทคนไทย มีบริษัทแม่จดทะเบียนในตลาดหุ้น คือ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทำเหมืองทองคำ ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย แต่ได้ยุติการทำเหมืองไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2557 เพราะถูกต่อตอ้านคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษปนเปื้อนในดินและน้ำ

บริษัท อัครา รีซอร์เซส หรือ ชื่อเดิม อัคราไมนิ่ง เป็นบริษัทลูกของ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ที่ได้อาชญาบัตรพิเศษจากรัฐบาลไทยให้เข้ามาขุดสำรวจสายเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2536

อัครา รีซอร์สเซส เป็นเจ้าของเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และพิจิตร มีอายุประทานบัตรจนถึงปี 2571

พื้นที่ที่อัคราได้ประทานบัตรนี้ จากการสำรวจ เชื่อว่า มีแร่ทองคำอยูประมาณ 9,000 ตัน ซึ่งเป้นปริมาณมากพอที่จะทำเป็นอุตสาหกรรมได้ โดยปัจจุบันมีการขุดแร่ทองคำขึ้นมาแล้ว 40 ตัน

ตัวแร่ทองคำ มีลักษณะเป็นผงละลายอยู่ในหิน จึงต้องทำการระเบิดหิน โดยในหิน 1 ตัน จะมีทองคำอยู่ประมาณ 1.3 กรัม จากนั้นต้องบดหินให้เป็นผงแล้วจึงนำสารละลายไซยาไนด์ไปละลายทองคำออกมา แล้วส่งออกในรูป เศษแร่ทองคำ ราคาเพียงบาทละ 1- 2 หมื่นบาท ไปถลุงเป็นทองคำบริษัทสุทธิ์ ที่ฮ่องกง และออสเตรเลีย ก่อนจะนำกลับเข้ามาขาย ในประเทศไทย ในราคาตลาดซึ่งปัจจุบันสูงถึงบาทละ 2 หมื่นกว่าบาท

กว่าจะได้ทองเท่าหนวดกุ้ง ต้องระเบิดภูเขาเกือบทั้งลูก เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ของแผ่นดินไทยแท้ๆ แต่ถูกขุดขึ้นมาขายในราคาถูกๆ

ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบๆเหมือง กระบวนการทำเหมืองทองคำของ อัครา ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การเริ่มกระบวนการ ทั้งฝุ่นที่เกิดจากการระเบิดภูเขา การเอาสินแร่มาแยกเป็นทองคำที่ทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรด โลหะส่วนเกินที่หลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการสกัด หรือแม้กระทั่งของเสียที่ถูกกักเก็บไว้ในบ่อกักเก็บของเสีย ก็ยังหลุดออกมาปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งในแหล่งน้ำและห่วงโซ่อาหาร และท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือชาวบ้านในชุมชน ซึ่งพบว่ามีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

เหมืองทองคำของอัครา ซึ่งมีชื่อว่า เหมืองชาตรี เริ่มขุดเจาะหาแร่ทองคำ ในพื้นที่ประทานบัตร บริเวณ เขาหม้อ ตำบล เขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัด พิจิตร เมื่อปี 2544 แต่ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี ค่อ ในปี 2546 กระแสการต่อต้านก็เร่มเกิดขึ้น ประชาชนในพื้นที่ เริ่มร้องเรียนต่อทางการ ว่า เหมืองทองคำ ได้สร้างปัญหาต่างๆที่กระทบกับสิ้งแวดล้อมและการใช้ชีวิต เช่น ปัญหาเสียงดังจากการระเบิดหิน ฝุ่นซึ่งทำให้เป็นผื่น ไปจนถึง สารปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งกระจายเข้าสุ่ร่างกาย

ปี 2553 ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ 44 รายในพื้นที่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อดำเนินคดีกับ 5 หน่วยงานรัฐ คือ รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ และอบต.เขาเจ็ดลูก กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูกกว่า 100 คนได้รับผลกระทบ เจ็บป่วย จากการระเบิดภูเขาอย่างต่อเนื่อง น้ำดื่มไม่สามารถดื่มกินได้กว่า 2 ปี

ปี 2557 ประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยจัดการปัญหาต่างๆที่เหมืองแห่งนี้สร้างขึ้น

เดือนพฤษภาคม 2559 ประทานบัตรเหมืองทองคำฉบับหนึ่งของอัตรา จะหมดอายุลง ทางบริษัทได้ยื่นขอต่อใบอนุญาต การต่อต้านจึงปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังสงกรานต์ วันที่ 23 เมษายน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดร.วิจารย์ สีฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส เพื่อรวบรวมข้อมูลในการพิจารณาต่อหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตของบริษัทดังกล่าว ณ อำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติห้ามการทำเหมืองทอง และสั่งหยุดนโยบายสำรวจแร่ทองคำทั่วประเทศ โดยเหมืองทองชาตรีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ครม. มีมติให้ขยายสัญญาออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2559 จากที่ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมเดิมจะสิ้นสุด 13 พ.ค.59 เพื่อให้พนักงานและผู้รับเหมา รวมกว่า 1,000 คน หางานใหม่ได้ทัน และลดผลกระทบกับบริษัทเจ้าของสัญญา โดยหลังสิ้นปี 2559 นี้ให้ทำการปิดเหมืองอย่างไม่มีกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น