“อัครา รีซอร์สเซส” ร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐให้คณะกรรมการชุดที่ ก.อุตสาหกรรมและ ก.สาธารณสุขสรุปหาข้อเท็จจริงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความกระจ่าง ชี้ผลกระทบปิดเหมืองทองคำสิ้นปีนี้ทำให้บริษัทเสียหาย 4 หมื่นล้านบาทใน 7 ปีนี้ ขณะที่ซีอีโอคิงส์เกทฯ เตรียมบินจากออสเตรเลียมาพบ รมว.อุตสาหกรรมสัปดาห์หน้า
นายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวแถลงเปิดใจเหมืองอัคราหลังถูกยุติการอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่สิ้นปี 2559 โดยมีตัวแทนพนักงานและชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมแถลงข่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองทองคำ และคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ ส่วนอัคราฯ มีมติให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 ได้สร้างความประหลาดใจและผิดหวังให้แก่พนักงานและชุมชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยล่าสุดประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอัคราฯ 48% จะเดินทางมาไทยด่วนในสัปดาห์หน้าหารือ รมว.อุตสาหกรรม หลังมีความกังวลในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่เหมืองทองคำอัคราฯ ดำเนินการมาใช้ดำเนินธุรกิจไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนในเครื่องจักร 1.4 หมื่นล้านบาท และในอนาคตจะมีการลงทุนเพิ่มเติมอีก 3 หมื่นล้านบาทตลอดอายุสัมปทานเหมืองทองคำ ซึ่งมติ ครม.ออกมาให้ปิดเหมืองภายในสิ้นปีนี้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตพนักงานและครอบครัวกว่า 4 พันคนที่ต้องขาดรายได้และต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างชัดเจน เนื่องจากแต่ละปีบริษัทฯ ได้จ่ายค่าภาคหลวงเฉลี่ย 400 ล้านบาท โดย 40% ไปเพชรบูรณ์กับพิจิตร และเสียภาษีให้รัฐอีก 100 ล้านบาท
ปัจจุบันอัคราฯ มีหนี้สินจากการขยายกำลังการผลิตโรงถลุงทองคำเมื่อปี 2555 รวม 2.2 พันล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุน 0.4 เท่า โดยหนี้สินจะชำระครบใน 3 ปีข้างหน้า ล่าสุดเจ้าหนี้แบงก์ได้มีการติดต่อสอบถามเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยยังไม่มีสัญญาณว่าจะเร่งรัดชำระหนี้แต่อย่างใด
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ขอความเป็นธรรมจากภาครัฐให้เห็นใจผู้ประกอบการที่ดำเนินงานตามกฎหมายและใส่ใจต่อชุมชนบริเวณรอบเหมืองมาโดยตลอด โดยขอเรียกร้องให้คณะกรรมการชุดที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการหาข้อเท็จจริงของสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ตามหลักของวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อทุกฝ่าย หากผลสรุประบุว่าบริษัทฯ เป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็พร้อมที่จะปิดตัวลง แต่ถ้าไม่ใช่ก็อยากขอให้รัฐให้ความเป็นธรรมต่อบริษัทฯ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือในทุกด้านอย่างเต็มที่เพื่อให้ความจริงปรากฏชัด ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป
นายเชิดศักดิ์กล่าวว่า ส่วนจะดำเนินการฟ้องร้องศาลหรือไม่นั้น บริษัทฯ ขอดูรายละเอียดหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก่อนว่าจะให้บริษัทดำเนินการทำหรือไม่ทำอะไรก่อน หลังจากจะขอพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว ประเด็นการฟ้องร้องศาลฯ เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวนั้นจะเป็นทางเลือกท้ายๆ ที่จะทำ และขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการ
“บริษัทจะดูทุกช่องทางทางกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ ทางเราจะปรึกษาทนายก่อนว่าจะฟ้องหรือไม่ แต่เรายืนยันว่าเราทำทุกอย่างตามกฎหมาย การทำธุรกิจอยู่ภายใต้กฎหมาย และหากพนักงานจะไปฟ้องร้องเองก็เป็นสิทธิของพนักงาน เพราะได้รับผลกระทบจากมติ ครม.ดังกล่าว”
ทั้งนี้ หากเหมืองทองคำชาตรีต้องปิดตัวลงในสิ้นปีนี้คาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทฯ จะสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทตลอดช่วงเวลา 7 ปีที่ไม่ได้ดำเนินการผลิตทองคำ ซึ่งปัจจุบันปริมาณแร่ทองคำเหลืออยู่ในพื้นที่สัมปทานทั้ง 14 แปลง 30 ตันจากทั้งหมด 80 ตัน โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้นำทองคำขึ้นมาแล้ว 50 ตัน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ 7 เดือนในการนำแร่ทองคำขึ้นมาถลุงได้ทั้งหมด โดยแต่ละปีบริษัทฯ สามารถผลิตทองคำได้เพียง 1.2 แสนออนซ์ หรือประมาณ 5ตัน/ปี
ด้านมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ บริษัทฯ ได้ดำเนินการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการประกอบกิจการอยู่แล้ว ตามแผนการดำเนินงานภายใต้มาตรการ EHIA อย่างเคร่งครัด แต่หากเหมืองแร่ทองคำชาตรีต้องปิดดำเนินการลงในระยะเวลาอีก 7 เดือนข้างหน้า ทางบริษัทฯ จะต้องดำเนินการปรับแผนการทำงานใหม่
“บริษัทฯ เองก็ไม่นิ่งนอนใจ เตรียมร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกด้านในการเร่งให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะเราเชื่อว่าการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องคือหนทางสู่การลดความขัดแย้ง และแน่นอนว่าความตั้งใจดี ความจริงใจในการแก้ปัญหา และข้อเท็จจริงที่ทางบริษัทฯ มีจะสามารถลดความขัดแย้ง และทำให้เกิดความกระจ่าง จนส่งผลให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้”