xs
xsm
sm
md
lg

มีผลแล้ว! เปิดคำสั่งปิดพื้นที่ท่องเที่ยว “เกาะยูง-เกาะตาชัย” บริเวณ “พีพี-สิมิลัน” เน้นอนุรักษ์ปะการัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกาะตาชัย
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เซ็นออกประกาศ 2 ฉบับ สั่งปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน บริเวณพื้นที่บนเกาะ ชายหาดและแนวปะการังรอบเกาะตาชัย ยกเว้นบริเวณแหล่งดําน้ำลึก 2 แห่งเป็นการชั่วคราว มีผล 15 ต.ค.ปีนี้ และปิดเกาะยูง บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีเพื่ออนุรักษ์ปะการังและทรัพยากรทางทะเล มีผลทันที

วันนี้( 2 มิ.ย.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2 ฉบับ ฉบับแรกประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน บริเวณพื้นที่บนเกาะ ชายหาดและแนวปะการังรอบเกาะตาชัย ยกเว้นบริเวณแหล่งดําน้ำลึก 2 แห่งเป็นการชั่วคราว ดังนี้

“ด้วยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสิมิลัน จึงปิดการท่องเที่ยวพื้นที่บนเกาะ ชายหาด และแนวปะการังบริเวณรอบเกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งเป็นเขตสงวนสภาพธรรมชาติ (Primitive Zone) ตามแผนแม่บทการจัดการพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ ทะเลอันดามัน สําหรับแหล่งดําน้ำลึก ๒ แห่ง ที่เป็นเขตนันทนาการและศึกษาหาความรู้ (Outdoor Recreation Zone) ให้เปิดการท่องเที่ยวเหมือนเดิม

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ธัญญา เนติธรรมกุล
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช”

ฉบับที่ 2 ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเรื่อง ปิดเกาะยูงเพื่ออนุรักษ์ปะการังและทรัพยากรทางทะเล

“ด้วยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ปรับเปลี่ยนเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ตามหลักวิชาการจัดการอุทยานแห่งชาติและความเหมาะสม ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน บริเวณเกาะยูงด้านตะวันตกและทิศเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวปะการังอุดมสมบูรณ์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ของปะการัง กําหนดให้เป็นเขตหวงห้าม (Strict Nature Reserve Zone) ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ยกเว้นการศึกษาวิจัยที่ต้องได้รับการอนุญาตก่อน และพื้นที่บริเวณเกาะยูงด้านตะวันออกและทิศใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวปะการังเสื่อมโทรมจากกิจกรรมของนักท่องเที่ยว กําหนดให้เป็นเขตฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ (Recovery Zone) ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวทุกรูปแบบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอปิดเกาะยูง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ธัญญา เนติธรรมกุล
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช”

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้นนายธัญญาได้ลงนามปิดการท่องเที่ยวเกาะตาชัยในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงาแล้ว บริเวณชายหาดและแนวปะการังน้ำตื้น โดยเป็นการปิดไม่มีกำหนด ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ปิดแบบไม่มีกำหนดเพราะว่ามีผลการศึกษาทางวิชาการที่ระบุถึงความ เสื่อมโทรมของชายหาดและปะการังรอบเกาะ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอปิดเพื่อให้ฟื้นตัว เบื้องต้นปิดขั้นต่ำ 1 ปี แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ต้องปิด 2 ปี จนกว่าธรรมชาติจะฟื้นตัวกลับมา อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดำน้ำลึกยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ยังมีการปิดการท่องเที่ยวเกาะยูงในเขตอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ด้วย

ก่อนหน้านั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมด้วยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมการท่องเที่ยว, นักวิชาการด้านปะการัง และตัวแทนจากไอยูซีเอ็น เข้าร่วมหารือประชุมติดตามสถานภาพและมาตรการรับมือปะการังจากการฟอกขาว ปี 2559 หลังอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลมีค่าสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ในปีนี้ อาจมีโอกาสที่ปะการังจะฟอกขาวเสียหายถึงร้อยละ 80

ในส่วนของคณะทำงานปะการัง ได้ข้อเสนอพิจารณาปิดแหล่งปะการังที่อ่อนไหวต่อการฟอกขาวที่รุนแรง เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมท่องเที่ยวการดำน้ำ และบางจุดจะปิดเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์ปะการัง ทั้งสิ้น 32 จุด แบ่งออกเป็นแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามัน 15 จุด เช่น ฝั่งตะวันออกของเกาะสิมิลัน จ.พังงา, เกาะสุรินทร์ เหนืออ่าวไทรเอน, เกาะตาชัย, เกาะยูง, เกาะไผ่ หินกลาง จ.กระบี่, เกาะแอว จ.ภูเก็ต และปิดหาดตะวันออกเฉียงเหนือ เกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต และเกาะอาดังราวี จ.สตูล

ส่วนฝั่งทะเลอ่าวไทยอีก 17 จุด เช่น เกาะช้างน้อย จ.ตราด, เกาะยักษ์ใหญ่, เกาะหินเกือกม้า, เกาะกูดฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณอ่าวกล้วย, อ่าวเมา ฝั่งตะวันออก จ.สุราษฎร์ธานี, อ่าวลึก, เกาะพะงันตอนเหนือและทางใต้บริเวณหาดบ้านใต้, เกาะสมุย, เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์, เกาะค้างคาว จ.ชลบุรี เป็นต้น

ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามในประกาศแล้ว จะทำการปิดเกาะเพื่อป้องกันปะการังฟอกขาวเป็นระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี หากมีการประกาศปิดเกาะ อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว จึงจะต้องมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อทำความเข้าใจในส่วนนี้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น