xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์พบภัยแล้งทำจีดีพีภาคเกษตรปี 58 หดตัวร้อยละ 3.8 แถมการจ้างงานเกษตรลดลงร้อยละ 2.7

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สภาพัฒน์” พบการจ้างงานเกษตรลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมมีผู้ว่างงาน 369,893 คน อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.97 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.94 เมื่อไตรมาสแรกปี 58 ภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคการเกษตรในปี 58 หดตัวร้อยละ 3.8 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (30 พ.ค.) ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยระหว่างแถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2559 ว่าความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญในเชิงบวกทั้งในด้านการจ้างงานโดยรวม รายได้และผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น ความร่วมมือประชารัฐเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ยังมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องติดตาม เฝ้าระวังเพื่อบรรเทาผลกระทบของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มขึ้น การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล การกำกับดูแลการโฆษณาของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กให้เหมาะสม รวมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาและจัดการผลกระทบจากภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและภาคการเกษตร

ทั้งนี้ พบว่าการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสแรกปี 2559 ผู้มีงานทำมีจำนวน 37,684,243 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะสาขาการผลิตอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ขนส่ง และบริการท่องเที่ยว โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 369,893 คน อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.97 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.94 เมื่อไตรมาสแรกปี 2558 ค่าจ้างแรงงานที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.14 ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนแท้จริงที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และผลิตภาพแรงงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2

ดร.ปรเมธีกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเฝ้าระวังที่มีผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงาน ได้แก่ (1) ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมายังคงต้องติดตามมาตรการและการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะได้มีการคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะลดระดับความรุนแรงและเข้าสู่ภาวะปกติภายในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมศกนี้ (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแบบช้าๆ และการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เครื่องนุ่งห่ม ที่อาจจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนการจ้างงานโดยการลดชั่วโมงการทำงานลงหรือการขอใช้มาตรา 75 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

(3) ปัญหาการกีดกันทางการค้าจากการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาแรงงานบังคับที่ส่งผลต่อการส่งออกของธุรกิจประมงและธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำ แม้จะยังไม่พบความรุนแรงในการเลิกจ้างแรงงานในสาขาประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในการขจัดการทำประมงผิดกฎหมายและการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับในภาคประมงตามมาตรฐานสากล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรปต่อไป และ (4) จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขา ควรติดตามการบังคับใช้ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือกับสถานประกอบการอย่างเข้มงวด และสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานในการเข้ารับการทดสอบฝืมือแรงงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เพื่อที่แรงงานจะได้มีความตื่นตัวในการพัฒนาฝืมือแรงงานให้ได้รับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและจะส่งผลต่อการยกระดับผลิตภาพการผลิตของประเทศ

สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กระทบต่อสุขภาพแรงงาน ในปี 2558 แรงงานไทยได้รับบาดเจ็บและประสบอุบัติเหตุจากการทำงานร้อยละ 13 ของผู้มีงานทำ ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 13.9 ในปี 2557 โดยแรงงานนอกระบบมีปัญหาสุขภาพทั้งได้รับบาดเจ็บและมีความไม่ปลอดภัยในการทำงานสูงกว่าแรงงานในระบบ ประชากรวัยแรงงานมีปัญหาเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 62.94 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 จาก 28.5 ต่อประชากรแสนคนในปี 2553 และมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการบาดเจ็บจากการทำงานจากการอยู่ในอิริยาบถไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน มีกิจกรรมทางกายน้อย รวมถึงยังพบปัญหาสุขภาพจิตซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพของแรงงานไทย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพของแรงงาน

ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกปี 2559 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 17.6 โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.8 ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 97.4 อีกทั้งยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และสถานการณ์เด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม รวมทั้งต้องเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคลมแดดในช่วงอากาศร้อนจัดเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่ลดลง แต่ยังเฝ้าระวังในกลุ่มคนรุ่นใหม่สูบบุหรี่มากขึ้น ในไตรมาสแรกปี 2559 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 39,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 1.8 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 15,706 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 2.5 แต่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนที่มีการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนที่สูบบุหรี่เป็นประจำลดลงอย่างต่อเนื่อง

ประชากรไทยอ่านหนังสือและใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้น ผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประชากรไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546-2558 แม้ว่าประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2556 โดยมีอัตราการอ่านหนังสือลดลงจากร้อยละ 81.8 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 77.7 ในปี 2558 แต่เวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจาก 37 นาทีต่อวันในปี 2556 เป็น 66 นาทีต่อวันในปี 2558 โดยกลุ่มเด็กวัย 6-14 ปีและกลุ่มเยาวชนวัย 15-24 ปี มีอัตราการอ่านหนังสือสูงถึงร้อยละ 90.7 และ 89.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านร่วมกันในหลายภาคส่วนในโอกาสที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556 ขณะที่เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อ่านหนังสือเองหรือมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟังมีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 58.9 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 60.2 ในปี 2558 และเวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านหนังสือนอกเวลาเรียนเพิ่มขึ้นจาก 27 นาทีต่อวันในปี 2556 เป็น 34 นาทีต่อวันในปี 2558

การพัฒนาคนไทยให้มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้แบบสะเต็ม (STEM) ซึ่งเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T) วิศวกรรมศาสตร์ (E) และคณิตศาสตร์ (M) เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต เน้นประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มทักษะพื้นฐานให้คนไทยสามารถอยู่ได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นแนวทางของการสร้างแรงงานที่มีศักยภาพในอนาคต และการผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

คดีอาญาโดยรวมลดลง สถานการณ์ยาเสพติดมีแนวโน้มดีขึ้น คดีอาญาโดยรวมไตรมาสแรกปี 2559 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 20.5 โดยคดีชีวิตร่างกาย เพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 8.9 และ 8.7 ตามลำดับ และคดียาเสพติดยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 80.3 ของคดีอาญารวม ลดลงร้อยละ 22.9 เป็นผลจากการดำเนินการป้องกันและปราบปรามที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังคงต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง

การเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการสร้างวินัยการใช้รถใช้ถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งปี การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและมีผู้เสียชีวิตในไตรมาสแรกปี 2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 11.9 และ 14.9 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 พบการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ร้อยละ 2.2 และ 21.4 โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงสุดในรอบ 10 ปี แม้ว่าได้มีการกำหนดมาตรการที่เข้มข้นทั้งในด้านการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการประชาสัมพันธ์เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จึงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางโดยให้ชุมชนร่วมคิด แก้ไข เร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกของผู้ขับขี่ให้มีความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น การมีวินัยจราจรและเคารพกฏหมายตั้งแต่ระดับบุคคลโดยเริ่มตั้งแต่เด็กและเยาวชนสู่ระดับครอบครัว สถาบันการศึกษา ขยายไปจนถึงเครือข่ายทางสังคม

การร้องเรียนสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และความจำเป็นของการกำกับดูแลการโฆษณาของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ผู้บริโภคร้องเรียนผ่านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และร้องเรียนบริการกิจการโทรคมนาคมผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.9 จากการเปลี่ยนผ่านระบบ 2G เป็น 3G ขณะที่การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในช่วงรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสมที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านโภชนาการและสุขภาพเด็ก

ความร่วมมือประชารัฐเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันได้อย่างยั่งยืน การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนซึ่งเกิดขึ้นทุกปี มีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า จากสถิติการเกิดและการดับไฟป่าในภาคเหนือในปี 2558 มีจำนวนครั้งและขนาดพื้นที่ที่เสียหายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า และพบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี จึงได้มีการบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมมือและสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในปี 2559 ในมิติเชิงพื้นที่เน้นใช้กลไกเชิงป้องกันควบคุม สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น รวมทั้งการทำงานแบบประชารัฐร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาสังคมและชาวบ้านในพื้นที่ผนึกพลังร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันได้อย่างยั่งยืน

ดร.ปรเมธีกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่สภาพัฒน์สำรวจ พบว่า แรงงานเกษตร : การปรับตัวของเกษตรกรจากภาวะภัยแล้ง ภัยแล้งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ของประเทศ ได้ส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยที่มีประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางโดยมีสัดส่วนคนจนมากที่สุด แรงงานเกษตรร้อยละ 69 มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และกว่าร้อยละ 70 มีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่า ทำให้มีข้อจำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมต่อปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิต

ภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคการเกษตร ในปี 2558 หดตัวร้อยละ 3.8 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 113.65 ในเดือนมีนาคม 2559 จาก 119.9 ในเดือนเดียวกันของปี 2557 และดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ลดลงจาก 147.96 เป็น 134.07 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลงกว่า 460,000 คน ลดลง ร้อยละ 3.6 ขณะที่ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2558 พบว่ารายได้ของครัวเรือนด้านเกษตร (ผู้ถือครองทางการเกษตรทั้งเจ้าของและผู้เช่า ผู้ทำประมง ป่าไม้ฯ และคนงานเกษตร) เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยโดยมีรายได้ที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1 ขณะที่มีรายจ่ายและหนี้สินเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2556 โดยเฉพาะคนงานเกษตรมีหนี้สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.3

มาตรการแก้ไขปัญหาและจัดการผลกระทบจากภัยแล้ง รัฐมีมาตรการทั้งในด้าน (1) การป้องกันความเสี่ยงก่อนจะเกิดขึ้น อาทิ การให้ข้อมูลความรู้สถานการณ์น้ำ การลดการปลูกข้าวนาปรัง การจัดเตรียมแหล่งน้ำกักเก็บน้ำ โครงการประกันภัยข้าวนาปี (2) การช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ อาทิ การแจกจ่ายน้ำ การให้เงินชดเชยรายได้ การลดค่าใช้จ่ายทั้งในด้านต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยที่เป็นผลกระทบจากภัยแล้ง และ (3) การสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหา อาทิ การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพอื่น การจ้างงานแรงงานเกษตร การให้สินเชื่อเพื่อปรับการผลิตและการพัฒนาที่เหมาะสม การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ในปี 2558/59 รัฐมีแนวทางในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาระยะยาวมากขึ้น โดยเน้นส่งเสริมการปรับปรุงเทคนิคการผลิตด้านการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะยาว

แม้ภาวะภัยแล้งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบแต่ในด้านบวกก่อให้เกิดการปรับตัวและการพัฒนา ซึ่งครอบคลุมไปถึงการยกระดับศักยภาพในการผลิตเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยชุมชนและเกษตรกรได้มีการปรับตัวที่สำคัญ ได้แก่ (1) การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับชุมชน/ท้องถิ่น (2) การเลื่อนเวลาการเพาะปลูก และปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเทคนิคหรือวิธีการผลิต (3) การแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างรายได้เสริม และ (4) การปรับปรุงดิน อนุรักษ์ป่า และสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แม้จะมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่สามารถปรับตัวได้ แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ยังต้องการการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมาตรการที่เกษตรกรต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ การรวมกลุ่มสร้างอาชีพเสริมในชุมชน การสนับสนุนด้านการตลาดรองรับการทำอาชีพเสริม และการให้ความรู้การผลิตและการแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างรายได้การดำเนินงานที่สำคัญในระยะต่อไป มีดังนี้

1. แนวทางการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของเกษตรกร ควรครอบคลุมในประเด็นสำคัญ ดังนี้

ระยะสั้น (1) การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยการกำหนดโครงการให้ความช่วยเหลือกเกษตรกรที่มีลักษณะยืดหยุ่น สอดคล้องกับช่วงเวลา พื้นที่ การเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและสนับสนุนการวางแผนการปรับตัวควบคู่กับแหล่งเงินทุนเพื่อลดโอกาสการขาดทุน (2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการน้ำ โดยการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้งหรือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการใช้น้ำโดยยึดหลัก 3 R (Reduce, Reuse, Recycle) สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจร่วมแก้ไขปัญหาและใช้น้ำอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม

ระยะกลาง/ยาว (1) การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในระยะยาว โดยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคนิควิธีการผลิตใหม่ระหว่างกลุ่มเกษตรกร เพิ่มการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในภาคเกษตรสำหรับพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรให้มีศักยภาพเพียงพอเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนเกษตรกรก้าวหน้า (smart farmer) เพื่อเป็นต้นแบบและสร้างความเชื่อมโยงการผลิตกับเกษตรกรรายย่อย

ให้เกิดการจ้างงานในชุมชนและมีความสามารถในการแข่งขัน และ (2) การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการและมีกลไกในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการเกิดภัยแล้ง วางแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบโดยสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปรับวิถีชีวิตและรูปแบบ/เทคนิคในการประกอบอาชีพ เพื่อความเปราะบางต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

2. การเร่งดำเนินการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาด้านสะเต็ม (STEM) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดให้มีการดำเนินงานทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา อาทิ (1) จัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ และศูนย์ในระดับภาคจำนวน 13 ศูนย์ (2) กำหนดเป้าจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาปีการศึกษา 2559 ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวม 2,250 โรงเรียน และกลุ่มครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในโรงเรียนเป้าหมาย 17,220 คน (3) ให้คำแนะนำแก่ครูผู้สอนในการสร้างความเชื่อมโยงองค์ความรู้และทักษะการคิดวิเคราะห์ให้แก่นักเรียน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวทางสะเต็มศึกษา 4,000 คน และ (4) ดำเนินโครงการอาชีวศึกษาฐานวิทยาศาสตร์นำร่องใน 5 วิทยาลัยอาชีวศึกษา และปรับปรุงหลักสูตรการสอนและการประเมินของอาชีวศึกษาปกติให้เอื้อกับสะเต็มศึกษามากขึ้น และในส่วนของนอกระบบการศึกษา กำหนดให้นำ “สะเต็ม” ไปใช้กับประชากรที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานและที่อยู่ในตลาดแรงงาน และผลิตกำลังคนที่มีทักษะด้านสะเต็มและอาชีพตัวอย่าง 10 สาขาแห่งอนาคตโดยจะนำเรื่อง 10 อาชีพตัวอย่างมาให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งการยกระดับการลงทุนด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการผลิตกำลังคนด้านสะเต็มศึกษา

3. การลดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบและกฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อย่างต่อเนื่องเพื่อลดนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาจเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ เช่น การรณรงค์ผ่านสื่อมวลชนให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ที่คํานึงถึงบริบทและภูมิสังคมเป็นสําคัญ โดยมีเนื้อหาการรณรงค์ที่ครอบคลุมทั้งด้านพิษภัยของยาสูบและการบังคับใช้กฎหมาย การให้ความสําคัญกับบุหรี่มวนเอง โดยใช้มาตรการที่ไม่แตกต่างจากบุหรี่โรงงานทั้งด้านภาษี ขนาดภาพคําเตือน การเฝ้าระวังในการบริโภคบุหรี่ลักลอบเข้ามาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หรือการพิจารณาการออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบเพื่อให้คำเตือนบนซองบุหรี่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดขึ้น

4. การกำกับดูแลการโฆษณาของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กให้มีความเหมาะสม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการเฝ้าระวังและร่วมกันพิจารณาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการโฆษณาในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเกินและการเจ็บป่วยเรื้อรังจากอาหารไขมันสูงของเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมผู้ผลิตให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและมีส่วนร่วมในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพเด็กและผู้บริโภค

5. การปลูกฝังให้รักการอ่านเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในเด็กปฐมวัย โดยการส่งเสริมการอ่านในครอบครัว การให้ผู้ใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในการอ่านให้เด็กเล็กฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือแรกคลอดหรือให้เด็กอ่านหนังสือเองอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที โดยให้ความสำคัญกับการเลือกหนังสือที่เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก รวมทั้งการจัดการปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว ชุมชนที่เอื้อต่อการอ่านของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 0-3 ปี เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและการพัฒนาการที่ดีเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตในช่วงวัยต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น